"...การเร่งรัดการลงทุนช่วงรอยต่อของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและแหล่งบงกช ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 2565 ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า จะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 อัตรา จากการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียมจากทั้ง 2 แหล่ง หรือจะเป็นการผลักดันเรื่องการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้งานต่อ โดยเฉพาะในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่เบื้องต้นจะมีการรื้อถอนประมาณ 53 แท่น ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท และช่วยสร้างอาชีพให้คนไทยต่อเนื่องอีกกว่า 1,000 อัตราต่อปี..."
ถ้าไม่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในเดือนเมษายนนี้ คงจะได้เห็นการเปิดประมูลให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ได้เตรียมที่จะออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อกระตุ้นการลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ หลังจากหยุดชะงักมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ ก็คือจะได้ผู้ชนะการประมูลปลายปี 2563 และสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลในต้นปี 2564 พร้อมทั้งมีการคาดการณ์ถึงเม็ดเงินลงทุนที่จะเกิดขึ้นหากเป็นไปตามแผนอยู่ที่กว่าหมื่นล้านบาท รวมถึงประโยชน์ต่างๆ ที่ประชาชนและประเทศชาติจะได้รับตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะก่อเกิดการจ้างงานคนไทย รายได้เข้าประเทศทั้งในรูปแบบค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศจากแหล่งใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานจากแหล่งพลังงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง
แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้หลายๆ ภาคส่วนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า โครงการต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รวมถึงโครงการสำรวจและผลิปิโตรเลียมก็ด้วยเช่นกัน ที่ต้องเลื่อนออกไปจนกว่าสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้จะคลี่คลาย
ทั้งนี้ แม้โครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่หวังให้มากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจะถูกชะลอ แต่ในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐต่างก็ร่วมผนึกกำลังเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน โดยหลายๆ มาตรการก็เป็นผลจากการดำเนินโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ประกอบด้วย การเร่งรัดการลงทุนช่วงรอยต่อของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและแหล่งบงกช ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 2565 ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า จะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 อัตรา จากการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียมจากทั้ง 2 แหล่ง หรือจะเป็นการผลักดันเรื่องการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้งานต่อ โดยเฉพาะในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่เบื้องต้นจะมีการรื้อถอนประมาณ 53 แท่น ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท และช่วยสร้างอาชีพให้คนไทยต่อเนื่องอีกกว่า 1,000 อัตราต่อปี
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้วัสดุอุปกรณ์หรือบริการจากภายในประเทศ เช่น การใช้เรือไทย และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในกิจการปิโตรเลียมที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศอีกด้วย