เทศบาลนครนนทบุรีดึงงบ "กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น" ต่อกรไวรัส COVID-19 จัดสรรการใช้จ่ายฝ่าวิกฤติ-รับมือเหตุการณ์ในอนาคต
นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี ในฐานะประธานกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครนนทบุรี เปิดเผยว่า พื้นที่เทศบาลนครนนทบุรีได้มีการใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ในการสู้กับวิกฤติไวรัส COVID-19 ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ การจัดหาน้ำยาล้างมือ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในด้านการป้องกันตัวเองแก่ประชาชน
ขณะเดียวกันภายในพื้นที่ยังควบคุมการแพร่ระบาด รณรงค์ด้าน Social distancing เพิ่มระยะห่างลดความหนาแน่นของประชากรในกิจกรรมต่างๆ มีการจัด Big cleaning week ทำความสะอาดพ่นยาฆ่าเชื้อตามสถานที่สาธารณะ รวมทั้งรณรงค์การล้างมือ ใส่หน้ากาก การปฏิบัติตามประกาศของจังหวัดอย่างเคร่งครัด ตลอดจนยังมีการเช่าโรงแรมเพื่อจัดเป็นที่พักสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวเฝ้าระวังอีกด้วย
นอกจากงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแล้ว ยังมีการใช้งบประมาณส่วนอื่นๆ เช่น เงินสะสมของเทศบาลจำนวนกว่า 25 ล้านบาท นำมาจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาล รวมทั้งยังมีการระดมทุนทรัพย์จากผู้บริหารเทศบาลเอง ร่วมกับผู้ใจบุญ เพื่อใช้ซื้อของมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ เช่น ตู้เย็น ไมโครเวฟ รวมไปถึงชุดกาวน์ที่มอบให้โรงพยาบาลและศูนย์ป้องกันต่างๆ
นายสมนึก กล่าวว่า การดำเนินงานภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ จะต้องเร่งระดมสรรพกำลังเพื่อให้ประชาชนตระหนักและเข้าใจถึงการป้องกัน ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าทางเทศบาลได้ทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันเชื้อโรค ฉะนั้นหากทุกฝ่ายร่วมกันเฝ้าระวังและปฏิบัติตามสิ่งที่กำหนด ก็คิดว่าจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในเขตนครนนทบุรีได้
"เรามีการใช้เงินสะสมของเทศบาลด้วยอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากเกรงว่าหากใช้งบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพอย่างเดียว เงินอาจจะเหลือน้อย และหากมีเหตุฉุกเฉินอีกในอนาคตอาจไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงเป็นมาตรการบริหารเพื่อเตรียมพร้อมในการรองรับอนาคต" นายสมนึก ระบุ
นายสมนึก กล่าวอีกว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นนับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การดำเนินงานต่างๆ มีความคล่องตัว ซึ่งทางเทศบาลได้มีการใช้มาตั้งแต่กรณีที่มีการเกิดโรคซาร์สและไข้หวัดนก โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาปกติงบประมาณจะถูกจัดสรรผ่านอำเภอต่างๆ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินแล้วท้องถิ่นมักจะกลายเป็นแขนขาในการดูแลประชาชน
"ต้องยอมรับว่าสาธารณสุขเรามองการณ์ไกลที่มีระบบกองทุนฯ ซึ่งเงินทุกอย่างมากองไว้ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนสามารถเสนอการใช้งบประมาณ โดยที่ภาคประชาชนเองมีส่วนร่วมเป็นกรรมการด้วย จึงเป็นการทำงานที่คล่องตัว เพราะหากไม่มีงบประมาณนี้ งานที่ต้องรออนุมัติแต่ละเรื่องจะเป็นไปได้ช้า" นายสมนึก ระบุ
นายสมนึก ยังกล่าวด้วยว่า ถ้าบ้านเมืองมีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นทั้งหมด ประโยชน์ทั้งหมดจะตกอยู่กับพี่น้องประชาชน โดยท้องถิ่นสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว เป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขอย่างตรงไปตรงมา และตรงตามวัตถุประสงค์ของคนในพื้นที่