จากเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงประชาชนที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 29 ราย และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก สร้างความตื่นตระหนกและกระทบต่อจิตใจของประชาชนทั่วทั้งประเทศ หลายหน่วยงานได้ผนึกกำลังเพื่อหาแนวทางป้องกันและรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับ “การประเมินสถานการณ์และการเตรียมการรับมือภาวะฉุกเฉิน” โดยผนึกกำลังหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโยธาธิการและผังเมือง สภาวิศวกร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และภาคเอกชน เพื่อนำองค์ความรู้และหลักการทางด้านวิศวกรรม มาใช้เป็นแนวทางช่วยเหลือป้องกันและฝ่าวิกฤติเหตุร้าย ตลอดจนภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพและลดการสูญเสีย
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. กล่าวว่า การประชุมหารือได้สรุปอุปสรรคของการแก้ปัญหาการก่อเหตุร้ายกราดยิงที่โคราช ได้แก่ อาคารสถานที่เกิดเหตุจริงมีความซับซ้อน ยากต่อการวิเคราะห์และวางแผนปฏิบัติการ ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความล่าช้าและมีความเสี่ยงสูง, แผนผังอาคารไม่มีการอัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากห้างสรรพสินค้ามีการบริหารจัดการและปรับแต่งพื้นที่อยู่ตลอดเวลา, การเก็บแผนผังของอาคารในรูปแบบเอกสารไม่ใช่ดิจิทัล หรือ 3D ทำให้ขาดมิติในการมองเห็นและทิศทางภายใน – ภายนอกอาคารที่เป็นจริง, แผนผังอาคารแสดงเส้นทางในส่วนพื้นที่สาธารณะทั่วไป เสี่ยงที่ผู้ก่อเหตุร้ายจะใช้เป็นจุดลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่และผู้ที่กำลังอพยพออกนอกอาคารได้, ขาดข้อมูลวัสดุโครงสร้างภายในอาคาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้เป็นจุดกำบังเมื่อเข้าตรวจสอบพื้นที่
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ในทางปฏิบัติ แบบที่เจ้าของอาคารใช้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคาร จะแตกต่างจากรายละเอียดแบบแปลนตามสร้าง (As-Built Drawings) จึงทำให้การวิเคราะห์วางแผนช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัยทำได้ล่าช้า ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เคยออกกฎกระทรวงเมื่อเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2561 โดยระบุให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในงานก่อสร้างอาคารต้องมีการจัดทำ “รายละเอียดแบบแปลนตามสร้าง (As-Built Drawings)” และดำเนินการเก็บไว้ที่สำนักงานท้องถิ่นหรือสำนักงานเขตในพื้นที่ ซึ่งมีรายละเอียดและความซับซ้อนมาก เช่น การแสดงผังเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคาร, แผนผังห้องควบคุมอาคาร เป็นต้น
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และที่ประชุมเสนอแนวทางด้านวิศวกรรม เพื่อกู้วิกฤติ - รับมือเหตุร้าย คือ 1. ผลักดันให้เป็นกฎหมายบังคับใช้กับอาคาร เพื่อเป็นประโยชน์ในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชน โดยออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล “แผนผังอาคารเพื่อความปลอดภัย” สำหรับใช้ในการกู้วิกฤติเหตุร้าย และความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เช่น แผนผังที่แสดงทางเข้าออกอาคารเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ การวางยุทธวิธีการเข้าช่วยเหลือหรืออพยพผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในอาคารให้ออกมาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะมีความแตกต่างจากแผนผังอื่น ๆ ที่แสดงตามที่สาธารณะทั่วไป 2. ควรจัดทำมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติตนเมื่อมีการก่อเหตุร้าย โดยทาง วสท.จะดำเนินการจัดทำมาตรฐานการจัดการจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คาดว่าร่างมาตรฐานฉบับนี้จะแล้วเสร็จปลายปี 2563 ก่อนเสนอให้คณะกรรมการควบคุมอาคารพิจารณาผลักดันให้กระทรวงมหาดไทยออกเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้ต่อไป
3. รัฐบาลควรสนับสนุนการใช้ข้อมูลออกแบบจำลองอาคารดิจิทัล หรือ เทคโนโลยี BIM (Building Information Model) ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งก่อน-ระหว่าง-และหลังการสร้างอาคารเสร็จ ทำให้ทราบโครงสร้างและเส้นทางภายในอาคาร 3 มิติ จนถึงวัสดุ ซึ่งสามารถนำมาใช้วางแผน , การกู้ภัยพิบัติ รวมถึงการผจญภัยกับเหตุร้ายให้แก่องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยแก่ผู้มาใช้อาคารและสาธารณชน หากดำเนินการได้ตามมาตรฐานที่วางไว้แล้ว จะช่วยให้ผู้ที่เข้าระงับเหตุร้ายต่าง ๆ มีความปลอดภัย สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ BIM จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะทำให้นโยบายของรัฐบาลในการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) เป็นจริงอย่างสมบูรณ์และปลอดภัย 4. ควรเผยแพร่ความรู้ให้เกิดการรับรู้ร่วมกันในวิธีปฏิบันตนเมื่อเกิดเหตุร้ายแก่ประชาชน
5. ส่งเสริมการใช้หลักการทางวิศวกรรมมาจัดการบริหารการก่อเหตุร้ายและภัยพิบัติตามแนวทางมาตรฐานสากล NFPA (National Fire Protection Association) เนื่องจากทำให้สามารถควบคุมและแก้ไขสถานการณ์และจำกัดความสูญเสียได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การวางแผน (Plan) วางแผนโดยใช้ข้อมูลลักษณะอาคาร แผนผังอาคาร หรือพื้นที่โดยรอบอาคาร ให้สอดคล้องกับเหตุร้ายหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การกั้นพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ พื้นที่ฝ่ายงานสนับสนุน พื้นที่สำหรับสื่อมวลชน เป็นต้น, การตอบสนองต่อเหตุการณ์ (Response) ได้แก่ Run – Hide – Fight เมื่อเกิดเหตุก่อการร้ายให้ผู้ประสบเหตุหนีก่อน หากประเมินว่าการหนีมีความเสี่ยงให้ซ่อนตัว แต่ถ้าไม่ได้ผลจึงให้สู้ , อบรมให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ต้องทราบถึงวิธีการปฐมพยาบาลและการห้ามเลือดเบื้องต้น , การจัดเตรียมสถานพยาบาลรองรับผู้ประสบภัย รวมถึงการบริหารการเข้าออกของรถพยาบาล, ส่วนการฟื้นฟูเยียวยา (Recovery) ก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การช่วยเหลือดูแลผู้ประสบภัย การเปิดรับบริจาค การฟื้นฟูบำบัดจิตใจของผู้ประสบภัย เป็นต้น