สปสช.จัดสรรงบส่งเสริมป้องกัน ตรวจคัดกรองโรคให้คนไทยทุกสิทธิกว่า 66 ล้านคน ไม่ให้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง สปสช.จัดสรรงบส่งเสริมป้องกัน ตรวจคัดกรองโรคให้คนไทยทุกสิทธิกว่า 66 ล้านคน ช่วยชะลอไตเสื่อมก่อนเวลา ไม่ให้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้นเหตุที่ทำให้ครัวเรือนล้มละลาย โดยแนวโน้มของผู้ป่วยทุกวันนี้ยังคงเพิ่มมากขึ้นทุกปี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาทจึงต้องทำงานเชิงรุก ด้วยการจัดสรรงบประมาณทั้งในส่วนของการส่งเสริมป้องกันโรคและการรักษา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยในปีงบ 2563 มีการจัดสรรงบประมาณไว้ 9,405 ล้านบาท
สำหรับประมาณดังกล่าว สปสช.ตั้งเป้าว่าจะให้การดูแลผู้ป่วยได้ 61,948 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง จำนวน 31,047 ราย การฟอกเลือด จำนวน 28,546 ราย การผ่าตัดเปลี่ยนไต จำนวน 172 ราย และผู้ป่วยที่ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันอีก 2,183 ราย ขณะที่ในปีที่ผ่านมา (2562) สปสช. ได้ให้การดูแลผู้ป่วยทั้งสิ้น 59,830 ราย
“งบประมาณสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังนั้น เป็นงบที่ สปสช.ให้เพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช.จ่ายให้กับหน่วยบริการหัวละ 3,600 บาท ซึ่งงบเพิ่มเติมนี้จะครอบคลุมทั้งค่ายา ค่าบริการที่เกี่ยวข้อง ค่าล้างไตผ่านช่องท้อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ไปจนถึงการปลูกถ่ายไตและยากดภูมิ” นพ.รัฐพล กล่าว
นพ.รัฐพล กล่าวต่อไปว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง สปสช.จึงได้จัดสรรงบประมาณสำหรับส่งเสริมป้องกันโรคและตรวจคัดกรองโรคกลุ่มนี้ให้แก่คนไทยทุกสิทธิ รวม 66 ล้านคน เพื่อไม่ให้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นไตวาย หากป้องกันไตวายจะช่วยชะลอไตเสื่อมก่อนเวลาได้ ไปพร้อม ๆ กับสนับสนุนให้มีการจัดตั้งคลินิกเฉพาะในโรงพยาบาลด้วย
นพ.รัฐพล กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบบัตรทองส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้อง ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกสบาย รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลดภาระงานลง และช่วยลดความแออัดของหน่วยบริการด้วย
“เราให้สิทธิประโยชน์ตั้งแต่การผ่าตัดวางสายล้างช่องท้อง การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง การจัดส่งน้ำยาล้างไตให้ผู้ป่วยถึงบ้านผ่านทางไปรษณีย์ การให้ยาที่จำเป็น มากไปกว่านั้นเรายังดูแลไปจนถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษา ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมีความพร้อมสำหรับเข้ารับบริการปลูกถ่ายไตต่อไป” นพ.รัฐพล กล่าว
ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในจะไม่ต้องต่อสู้กับโรคอย่างโดดเดี่ยว เพราะทุกวันนี้มีสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งมีเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในโรงพยาบาล ช่วยพัฒนาให้ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจ ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีและเข้าถึงบริการมากขึ้น และยังเป็นตัวเชื่อมประสานจนเกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย และครอบครัว ลดความขัดแย้ง ลดปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบบริการอีกด้วย