เอสซีจี ร่วมกับ สยามคูโบต้า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รับซื้อฟางข้าว ใบอ้อย และซังข้าวโพด เพื่ออากาศสะอาดและแก้ปัญหา PM 2.5 จากการเผาไร่ พร้อมเสริมรายได้ให้เกษตรกร
เอสซีจี โดยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ร่วมกับสยามคูโบต้า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดจุดรับซื้อฟางข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด และเศษผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ รวม 14 จุด และมีแผนขยายเป็น 20 จุดทั่วประเทศภายในปี 2563 นี้ พร้อมใช้เทคโนโลยีการบีบอัดที่ทันสมัย ก่อนนำเศษผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในโรงงานปูนซีเมนต์ เพื่อช่วยลดปัญหา PM 2.5 และภาวะโลกร้อนจากการเผาไร่ เสริมรายได้ให้เกษตรกรไทย สอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยตั้งเป้ารับซื้อปีละ 1 ล้านตัน
นายชนะ ภูมี Vice President-Cement and Construction Solutions Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี มุ่งดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เมื่อเราทราบถึงปัญหาของเกษตรกรในการจัดการเศษผลผลิตทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย และซังข้าวโพด รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง PM 2.5 และภาวะโลกร้อน ที่เกิดขึ้นจากการจากเผาเศษผลผลิตทางเกษตรเหล่านี้แบบไม่ถูกวิธีในช่วงที่ผ่านมา เอสซีจี โดยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จึงใช้ประโยชน์จากหม้อเผาปูนซีเมนต์ที่เรามี ซึ่งสามารถนำเศษผลผลิตทางเกษตรเหล่านี้มาแปรรูปให้เป็นพลังงานทดแทนได้อย่างถูกวิธีและไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม โดยได้เริ่มเปิดรับซื้อเศษผลผลิตทางเกษตรมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่โรงงานปูนซีเมนต์ ทั้ง 5 แห่งของเอสซีจี ในจังหวัดสระบุรี ลำปาง และนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี พร้อมได้ขยายจุดรับซื้อไปยังเครือข่ายโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพค ทำให้ปัจจุบันเอสซีจีมีจุดรับซื้อเศษผลผลิตทางการเกษตร รวม 14 จุด และมีแผนการขยายเป็น 20 จุดทั่วประเทศภายในปี 2563 นี้ โดยตั้งเป้ารับซื้อได้ 1 ล้านตันต่อปี”
ด้าน นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “สยามคูโบต้าเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ ในการส่งเสริมเกษตรกรในการทำเกษตรแบบปลอดการเผา รวมถึงจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้รวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด เพื่อบีบอัดให้เป็นก้อนด้วยเครื่องอัดฟางคูโบต้า สะดวกต่อการขนส่งเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทนในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างโรงงานปูนซีเมนต์ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดการเผาในพื้นที่เกษตร และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนของภาคเกษตรกรรมของไทย”
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งนอกจากจะได้อากาศที่บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นมาแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรอีกด้วย ผมจึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรไทย ผู้ประกอบการ และหอการค้าทุกจังหวัดมาร่วมโครงการนี้ด้วยกัน โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะเดินหน้ารณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวทางการเกษตร โดยนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย”
เอสซีจี และองค์กรพันธมิตรอย่างสยามคูโบต้า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่าการดำเนินการเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกภาคส่วน ร่วมกันช่วยแก้ปัญหา PM 2.5 และภาวะโลกร้อนจากการเผาไร่ ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นได้ อีกทั้งยังช่วยเสริมรายได้ให้เกษตรกรไทย ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุตามแนวคิด From Waste To Wealth ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดี ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของประเทศต่อไป
สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ คุณศุมิตรา ศรีพิเศษ หมายเลขโทรศัพท์ 093-542-4594 หรือติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel