สนพ.เร่งให้ความรู้ประชาชน เรื่องเทคโนโลยีสมาร์ทกริดย้ำพัฒนาการไฟฟ้าไทย ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ที่จังหวัดขอนแก่น หลังสร้างความรู้ภาคประชาชนตั้งแต่กรุงเทพฯ ปริมณฑล กระจายสู่จังหวัด พร้อมเชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมบรรยายแผนการดำเนินงานสมาร์ทกริด แนวโน้มและทิศทางเทคโนโลยีไฟฟ้าแห่งอนาคต
ในการจัดสัมมนา“สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้ ( 7ม.ค. 2563) ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวภายในงานว่า จังหวัดขอนแก่นถือเป็นโมเดลพลังงานเรื่องสมาร์ทซิตี้ เป็นจังหวัดที่มีความตื่นตัวเป็นอย่างมากเรื่องพลังงาน สนพ.ได้เร่งสร้างความรู้เรื่องสมาร์ท กริดผ่านการจัดงานสัมมนาที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและกระจายสู่จังหวัดต่าง ๆ เทคโนโลยีไฟฟ้าที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ได้เข้ามามีบทบาทในการยกระดับความสามารถของระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ และได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้คนในปัจจุบัน เช่น การบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Prosumer) และในบางรายยังมีการขายต่อให้กับพื้นที่ใกล้เคียงหรือขายคืนเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าฯ อีกทั้งยังมีเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาในระบบ และสามารถขายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ได้ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทยอยเข้ามาในปีนี้ จเข้ามาในปีจะไปกระทบกับโครงข่ายไฟฟ้าโดยรวม และรัฐจะต้องเตรียมจัดการกับเรื่องนี้
นางสาวนันธิดา รัชตเวชกุล รักษาการหัวหน้ากลุ่มจัดหาพลังงานไฟฟ้า สนพ. กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ยังไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ ภาครัฐจึงมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งต้องมีการจัดการระบบไฟฟ้าที่ดีไม่ให้ไปกระทบกับการบริหารไฟฟ้าของประเทศ เทคโนโลยีสมาร์ทกริดได้เข้ามาช่วยบริหารจัดการระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่น้อยลง ทั้งยังสามารถพัฒนากริดให้รองรับกับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากต้นทุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมีราคาถูกลง ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และจากการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดนี้ยังได้สร้างผลประโยชน์ในภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เมื่อเรามีระบบไฟฟ้าที่ดี มีความมั่นคง ไม่เกิดไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ก็จะลดการสูญเสียทางการผลิต เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยได้ พร้อมกับเปิดโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานได้ในอนาคต
ดร.ฐิติพร สังข์เพชร หัวหน้ากองวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ฝ่ายแผนการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า บทบาทของกฟผ.ตามแผน PDP 2018 คือการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลัก 6,150 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันก็มีภารกิจพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ คือโครงการโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าระบบไฮบริดที่มีการบริหารจัดการน้ำร่วมด้วย จะเห็นได้ว่าปลายแผน PDP นั้นให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนมาก กฟผ.จะต้องมีการพัฒนากริดให้มีความยืดหยุ่น รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับกับการผลิตที่ไม่แน่นอน อีกทั้งความสำคัญในการพัฒนาระบบไฟฟ้าไทยให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานของอาเซียน ก็จำเป็นต้องสร้างระบบที่มั่นคง เชื่อถือได้ และราคาจะต้องไม่แพงจนเกินไป ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาเราได้ร่วมกัน 3 การไฟฟ้า ในการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ หรือโครงการ National Energy Trading Platform (NETP) เพื่อให้มีการรวบรวมข้อมูลด้านพลังงานไฟฟ้าจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลนำไปใช้ในการบริหารจัดการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค รองรับการซื้อขายไฟฟ้าเสรีที่จะมีความเปลี่ยนของอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต
นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ในอนาคตระบบไฟฟ้าจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยผู้เล่นที่มีมากขึ้นจากเมื่อก่อนการใช้ไฟฟ้าจะมาจากการซื้อจากโรงไฟฟ้าหลัก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีที่มีราคาถูกลงทำให้ทำคนสามารถเข้าถึงได้ ก็จะเกิดการผลิตไฟใช้เองจากพลังงานหมุนเวียนที่ส่งเข้าระบบมากขึ้น กริดก็จะต้องมีการพัฒนาเพื่อรองรับกับสิ่งนี้ด้วย อีกทั้งความสำคัญของระบบสื่อสารในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน ถือเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาสมาร์ทกริดที่มีเป้าหมายไปไกลในระดับภูมิภาค มีการเชื่อมโยงข้อมูลกันทุกการไฟฟ้าฯ ทั้งของไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ถึงข้อมูลการผลิต ปริมาณความต้องการใช้ที่สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้า มีการติดต่อซื้อขายระหว่างกัน ผ่านระบบโครงข่ายการสื่อสารที่ได้ประสิทธิภาพ และอีกหนึ่งแผนงานที่ กฟภ.กำลังมองทิศทางการพัฒนาคือระบบไมโครกริดในชุมชนซึ่งสอดคล้องกับโครงการพลังงานชุมชนที่รัฐกำลังผลักดัน เมื่อมีการพัฒนาการผลิตพลังงานในชุมชนหนึ่ง เราจะนำระบบไมโครกริดไปติดตั้ง และเอาพลังงานที่ชุมชนผลิตได้นั้นไปหล่อเลี้ยงการใช้พลังงานในชุมชนของตัวเอง ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่ในแผนพัฒนาสมาร์ทกริดประเทศทั้งสิ้น
สำหรับกิจกรรมสัมมนาสร้างความรู้ “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กระจายสู่ภาคต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบแผนงาน นโยบายจากภาครัฐ ที่มีต่อการพัฒนาสมาร์ทกริดในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงพลังงานได้กำหนดเป้าหมายระยะยาว 20 ปี โดยสนพ.ตั้งเป้าหมายให้เกิดการกระจายความรู้ แนะแนวทางให้กับประชาชนเปิดรับเทคโนโลยีไฟฟ้าที่ฉลาดขึ้นและจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของทุกคนในอนาคต เพื่อการพัฒนาคุณภาพระบบไฟฟ้าไทยและคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน