สปสช.ส่งความสุข สร้างรอยยิ้มคนไทยทั่วประเทศ มอบของขวัญปีใหม่ 2563 พัฒนาสิทธิประโยชน์ดูแลประชากรทุกกลุ่ม ทั้งยาราคาแพง จัดระบบดูแลรักษา ส่งเสริมป้องกันโรค พร้อมปรับระบบเบิกจ่ายเพื่อหน่วยบริการ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การมีสุขภาพที่ดีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความสุขให้กับชีวิต เช่นเดียวกับการเข้าถึงการรักษาเมื่อเกิดภาวะเจ็บป่วย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค ที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช.ได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขชภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน และในปี 2563 นี้ สปสช.ขอมอบของขวัญสิทธิประโยชน์ทั้งด้านการรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพื่อเป็นการส่งความสุขให้กับคนไทยทั่วประเทศในช่วงปีใหม่นี้
เริ่มจากสิทธิประโยขน์ด้านการรักษาพยาบาล โดยเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพงในบัญชียา จ (2) ได้แก่ ยาออกทรีโอไทด์ แอซีเทต (Octreotide acetate) ใช้รักษาผู้ป่วยโรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) ที่ได้รับการผ่าตัดเนื้องอกหรือฉายแสงแล้วแต่ระดับฮอร์โมน GH และ IGF ยังสูงอยู่ ซึ่งโรคอะโครเมกาลีเป็นหนึ่งในโรคหายากที่มีความรุนแรงสูง อัตราเสียชีวิตสูง 2-4 เท่าของคนปกติ มีสาเหตุมาจากเนื้องอกของต่อมใต้สมอง ส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยสร้างโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) มากกว่าคนปกติทั่วไป และยาริทูซิแมบ (Rituximab) รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL (Non-Hodgkin lymphoma) ในเด็ก ซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในไทย นอกจากนี้ยังได้จัดระบบการรักษาโรคหายากในระบบหลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมตั้งแต่ตรวจวินิจฉัยกลุ่มเสี่ยง ตรวจยืนยัน รักษาพยาบาล และติดตามผลการรักษา รวมถึงค่าพาหนะรับส่งต่อส่งกลับ ที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคหายากมีข้อจำกัดในการเข้าถึงยาที่ไม่มีขายในประเทศไทย ทั้งโรคเหล่านี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นการมีระบบที่รองรับดูแลก็เหมือนกับทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวเหมือนมีชีวิตใหม่
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นนโยบายที่ สปสช.ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยในปี 2563 นี้ สปสช.ได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคหลายรายการ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus Vaccine) ในทารกอายุ 2-6 เดือน ซึ่งโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กที่เข้านอนโรงพยาบาลด้วยโรคอุจจาระร่วงมีสาเหตุมาจากไวรัสโรต้า นอกจากนั้นยังได้เพิ่มรายการเคลือบฟลูออไรด์ในเด็กอายุ 4-12 ปี และเพิ่มรายการเคลือบหลุมร่องฟันในเด็กอายุ 6-12 ปี
การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ (HPV DNA test) เป็นวิธีใหม่ที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า สามารถตรวจพบผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้นและเข้าสู่การรักษาได้เร็วก่อนลุกลาม ช่วยให้อุบัติการณ์และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกลดลงเมื่อเทียบกับวิธีคัดกรองในปัจจุบัน ทั้งยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกัน และยังได้เพิ่มเติมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากสำหรับหญิงตั้งครรภ์
บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ หรือยาเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) สำหรับกลุ่มเสี่ยงในทุกสิทธิ 2,000 ราย เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการยุติปัญหาเอดส์ ร่วมมือกับกรมควบคุมโรคในการตรวจคัดกรองวัณโรคกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ ค้นหาผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาทันท่วงที ลดการแพร่เชื้อเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการระดับชาติร่วมยุติปัญหาวัณโรค และขยายการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิและทุกกลุ่มวัย
นอกจากนี้ในปี 2563 สปสช.ได้ปรับระบบการเบิกจ่ายโดยเพิ่มเติมรายการเบิกจ่ายตามรายการ (Fee Schedule) 3 รายการ คือ บริการตรวจและป้องกันสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์ รายการเคลือบฟลูออไรด์ในเด็กอายุ 4-12 ปี และรายการเคลือบหลุมร่องฟันในเด็กอายุ 6-12 ปี นอกจากดูแลให้ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเพิ่มความสะดวกการเบิกจ่ายให้กับหน่วยบริการ
“วาระดิถีขึ้นปีใหม่ สปสช.ในฐานะหน่วยงานดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดูแลสุขภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่ด้านการรักษา แต่ สปสช.ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อมอบรอยยิ้มแห่งความสุขให้กับคนไทยทั่วประเทศ มีสุขภาพที่ดี พลานามัยแข็งแรง และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2563 นี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว