วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล (UHC Day) ปี 2562 กระตุ้นทั่วโลก “รักษาสัญญา” เร่งสร้าง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ให้บรรลุภายในปี 2573 ดูแลความมั่นคงสุขภาพประชาชน ประเทศไทยพร้อมหนุนนานาประเทศ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์พัฒนา พร้อมเผยบันได 6 ขั้นสู่ความสำเร็จ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ตามมติในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ได้รับรองให้วันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” หรือ Universal Health Coverage Day: UHC Day เพื่อผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลสุขภาพประชากรในประเทศของตนเอง โดยในปี 2562 นี้ องค์การอนามัยโลกรณรงค์โดยชูประเด็น “รักษาสัญญา” (Keep the Promise) เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงการเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้บรรลุภายในปี 2573 หรือ UHC2030 ตามคำรับรองปฏิญญาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชนประจำปี 2562 เมื่อเดือนกันยายน 2562 และมุ่งให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs)
ทั้งนี้ประเทศไทยนับว่าประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเริ่มกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 มีการประกาศเป็นนโยบายชัดเจนโดยรัฐบาลและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง จนเป็นต้นแบบให้กับนานาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และในการประชุมเต็มคณะระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงความมุ่งมั่นใน 3 เรื่อง ที่ทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยประสบผลสำเร็จ คือ 1.สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพ 2.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณกองทุน รวมถึงการเน้นส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และ 3.สร้างการมีส่วนร่วมที่เป็นปัจจัยสำคัญให้หลักประกันสุขภาพมีความยั่งยืน พร้อมยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แม้เป็นประเทศไม่ร่ำรวยก็ดำเนินนโยบายนี้ได้
นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปีนี้ (Prince Mahidol Award 2019) ได้กำหนดการประชุมในหัวข้อ “เร่งรัดความก้าวหน้าเพื่อนำไปสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โดยประเทศไทยจะนำประสบการณ์ บทเรียนต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มานำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาประเทศไทยยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเข้าศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ เคนยา เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย แอฟริกาใต้ และโมร็อกโก เป็นต้น ซึ่งจุดเด่นของไทยคือเรามีองค์ความรู้ด้านสุขภาพ มีสาธารณสุขมูลฐานที่ดีรวมถึงหน่วยบริการที่ครอบคลุม และมี อสม.ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจะนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศตนเอง เช่นเดียวกับไทยเองได้เรียนรู้จากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าศึกษาดูงานเช่นกัน
“ไทยสนับสนุนให้นานาประเทศเร่งสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลประชาชน ที่ผ่านมามีหลายประเทศทั่วโลกได้เร่งเดินหน้าแล้วเพราะต่างเล็งเห็นแล้วว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เพียงแต่สร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพให้กับประชาชน แต่ยังเป็นรากฐานความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าประเทศต่าง ๆ จะสามารถรักษาสัญญาโดยสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จตามเป้าหมายสหประชาชาติในปี 2573” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมระดับสูงของสหประชาชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้มีการจัดทำข้อสรุปบันได 6 ขั้น เพื่อเป็นทิศทางการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประสบความสำเร็จ คือ 1.ความมุ่งมั่นของผู้นำทางการเมืองนอกเหนือจากด้านสุขภาพ โดยกำหนดให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระสำคัญในทุกรัฐบาล 2.การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และกำหนดให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน 3.กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ สนับสนุนการสร้างและดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เข้มแข็ง
4.การรักษาคุณภาพบริการ เน้นการสร้างระบบสุขภาพที่มีคุณภาพ ประชาชนมั่นใจ โดยมีระบบปฐมภูมิเป็นฐานสำคัญในการขยายความครอบคลุมการเข้าถึงบริการ 5.การลงทุนเพิ่มและลงทุนที่ดีขึ้น เน้นที่การจัดการลงทุนสุขภาพที่สมดุลและยั่งยืน ลดความยากจนจากค่าใช้จ่ายสุขภาพ และ 6.การขับเคลื่อนไปด้วยกัน สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคีเครือข่ายในสังคม เพื่อการมีสุขภาพดีของโลก
“ขณะนี้ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างมาก เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าบันได 6 ขั้นนี้ จะเป็นเหมือนกับเข็มทิศที่นำพาประเทศต่าง ๆ ไปสู่ความสำเร็จภายใน 11 ปี ตามเป้าหมายของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว