เครือซีพีมุ่งมั่นผนึกกำลังชุมชนประมงท้องถิ่น ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลไทย เดินหน้าโครงการธนาคารปูต่อเนื่อง
ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งนอกจากการฟื้นฟูธรรมชาติแล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมมือกันบริหารทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์อย่างยั่งยืนอีกครั้ง ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งมั่นปกป้องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ตลอดจนการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ ซึ่งมีเป้าหมายและแนวทางปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในแต่ละด้านอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมมือกับองค์กรประมงท้องถิ่น ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ดำเนินโครงการธนาคารปู เพื่อชุมชนยั่งยืน โดยสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มฯ และสนับสนุนงบประมาณ อุปกรณ์เพาะเลี้ยง พร้อมส่งเสริมองค์ความรู้ โดยการนำแกนนำและสมาชิกกลุ่มไปศึกษาดูงานการทำธนาคารปู ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วย และจากความมุ่งมั่นของกลุ่มองค์กรประมงท้องถิ่น ตำบลหาดเล็ก เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้กลับคืนมา มุ่งหวังให้ชาวประมงพื้นบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำระบบอัตโนมัติ สำหรับนำไปใช้ในโครงการธนาคารปู เพื่อชุมชนยั่งยืน โดยมุ่งแก้ปัญหาการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และวิถีชีวิตของชุมชนประมงชายฝั่ง โดยเป็นระบบการเพาะฟักรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย นำระบบออโตเมชั่นมาใช้ในการควบคุม และมีข้อดีกว่ารูปแบบที่พบได้ทั่วไป เช่น ด้านประสิทธิภาพ ด้านความยืดหยุ่นในการใช้งาน วิธีการใช้งานที่ง่าย และค่าบำรุงรักษาต่ำ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลในวงกว้าง โดยสถิติข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ถึงเดือนเมษายน 2561 สามารถสะสมตัวอ่อนปูได้กว่า 1.2 ล้านตัว คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 84 ล้านบาท คำนวณจากจำนวนลูกปูที่ได้ปล่อยไปทั้งหมด 1.2 พันล้านตัว ในอัตราการรอดที่ 0.1% และราคาโดยเฉลี่ยของปูม้าในตลาด ณ เวลาดังกล่าว
นอกจากจะสามารถบริหารจัดการทรัพยาธรรมชาติให้กลับมาสมดุลแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่ม และการมีส่วนร่วมของชุมชน อันจะนำไปสู่การทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันต่อไป สอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals –SDGs) ในข้อ 14 Life Below Water อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังรวมไปถึงข้อ 17 Partnerships for the Goals สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย นวัตกรรมธนาคารปู จึงเป็นผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่หลากหลายในการคิดค้นพัฒนา ทั้งพื้นฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การจัดการทรัพยากรทางทะเลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาเสริมศักยภาพให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
นวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำระบบอัตโนมัติ จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับคัดเลือกจากสมาคม Toronto International Society of Innovation & Advanced Skills (TISIAS) ให้เป็นหนึ่งในตัวแทนของประเทศไทย เพื่อเข้าแข่งขันในงานประกวดนวัตกรรม และเทคโนโลยีระดับนานาชาติ The4th International Invention Innovation Competition in Canada (iCAN 2019) ที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดยสามารถชนะการแข่งขันถึง 3 รางวัล ได้แก่ 1. ถ้วยรางวัลนวัตกรรมอันดับหนึ่งจากประเทศไทย “Best Invention of Thailand” 2. เหรียญทองสำหรับนวัตกรรมยอดเยี่ยม “Gold Medal” และ3.เหรียญรางวัลพิเศษ “Special Award” ซึ่งมีผู้ส่งสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมดกว่า 400 ผลงาน จาก 50 ประเทศทั่วโลก
คลิกเพื่อรับชมรายการ คิดเพื่อชีวิตยั่งยืน Sustainable ตอน ธนาคารปูออมสุข ที่นี่
https://www.facebook.com/watch/?v=396379937667870