บอร์ด สปสช. นำทีมคณะทำงานโครงการพัฒนารูปแบบคลินิกการพยาบาลฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม “3 คลินิกการพยาบาลฯ” ร่วมนำร่องหน่วยบริการร่วม ขยายระบบบัตรทอง ช่วยดูแลประชาชนในเขต กทม.อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ด้านผู้ประกอบการคลินิกการพยาบาลฯ เผยร่วมหน่วยบริการร่วม ยกระดับบริการเป็นที่ยอมรับ มั่นใจศักยภาพให้บริการสุขภาพภายใต้กรอบวิชาชีพพยาบาล ร่วมดูแลสุขภาพชาวบ้านในพื้นที่ได้
รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะทำงานโครงการพัฒนารูปแบบคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์เป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลงพื้นที่คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์พรรณเวช ปาริชาดคลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ และพลอยคลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจเยี่ยมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นคลินิกการพยาบาลฯ ที่นำร่องเป็นหน่วยบริการร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม. และนางปิยนุช โปร่งฟ้า ผอ.สำนักสนับสนุนคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมตรวจเยี่ยม
รศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของ “คลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์” เกิดจากที่ สปสช.มีนโยบายการดำเนินงานเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามวิชาชีพ โดยเน้นให้ประชาชนได้รับความสะดวก และลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยภารกิจของคลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์เน้นการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการรักษาพยาบาล การฉีดยา การทำแผล และการเปลี่ยนสายให้อาหาร ตลอดจนให้บริการเยี่ยมบ้านบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้านร่วมกับทีมสหวิชาชีพ
ทั้งนี้เบื้องต้นในปีนี้ยังเป็นการนำร่องหน่วยบริการร่วมคลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน ซึ่งมีประมาณ 38 แห่ง ขณะนี้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว 3 แห่ง และอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเชิญผู้ประกอบการคลินิกการพยาบาลฯ มาร่วมรับฟังข้อมูลและชี้แจงหลักเกณฑ์การเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ส่วนหนึ่งมีความพร้อมในการเข้าร่วมและมองว่าเป็นการบริการที่สามารถทำได้ เพราะหลายแห่งมีการให้บริการที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์อยู่แล้ว ซึ่งในวันนี้โครงการพัฒนารูปแบบคลินิกการพยาบาลฯ จึงได้ลงพื้นที่คลินิกการพยาบาลฯ จำนวน 3 แห่ง เพื่อดูความพร้อมการบริการและการเชื่อมโยงระบบกับ สปสช.
“วันนี้เป็นการตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินความพร้อมของคลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ ซึ่งต้องมั่นใจว่าสามารถให้การดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานภายใต้กรอบวิชาชีพการพยาบาลได้ และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีคลินิกการพยาบาลฯ ที่สมัครเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น และภายหลังจากการดำเนินการแล้ว 1 ปี จะมีการประเมินผล โดยอนาคตจะมีการขยายไปยังคลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ในพื้นที่ต่างจังหวัดต่อไป” นายกสภาการพยาบาล กล่าว
รศ.ดร.ทัศนา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของวิชาชีพการพยาบาลที่น่าภาคภูมิใจ ในการมีส่วนร่วมเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนอย่างใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งปกติวิชาชีพพยาบาลก็มีความใกล้ชิดกับคนไข้อยู่แล้ว และต้องขอบคุณ สปสช. ที่เห็นความสำคัญของพยาบาล เปิดให้ร่วมเป็นกำลังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ด้าน พ.จ.อ.หญิงปาริชาด ชาญศรี ผู้ประกอบการปาริชาดคลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ กล่าวว่า ทำงานเป็นพยาบาลมานานแล้ว ดูแลคนไข้ที่โรงพยาบาล คลินิก และประจำที่โรงงาน อยากใช้วิชาชีพพยาบาลเป็นประโยชน์ จึงออกมาเปิดคลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ เลือกที่ตั้งอยู่ในชุมชน ห่างจากคลินิกการแพทย์และโรงพยาบาล ให้บริการตามกรอบวิชาชีพพยาบาลที่เป็นการดูแลเบื้องต้น เช่น ตรวจทั่วไป ดูแลครรภ์ระยะเริ่มต้น ทำแผล ฉีดยาคุม และเย็บแผลที่ไม่ลึกถึงเอ็น และกล้ามเนื้อ เป็นต้น มีให้บริการผู้ป่วยนอกสถานที่บ้าง เช่น กรณีของแม่บ้านอยู่ชั้น 5 ที่แฟลตตำรวจ ซึ่งได้รับการผ่าตัดหลังและต้องทำแผลแต่ไม่สามารถเดินลงได้ ซึ่งคนไข้รู้สึกสะดวกไม่ต้องเสียเวลาไปที่โรงพยาบาล โดยที่คลินิกยังมีบริการตรวจสิทธิการรักษาพยาบาล และทำใบส่งต่อกรณีที่ต้องรักษาโดยแพทย์ ซึ่งช่วงแรกคนไข้ยังไม่มาก แต่เมื่อได้รับการบริการที่ดีทำให้มีการบอกต่อ คนไข้ก็เพิ่มมากขึ้น เดือนตุลาคมที่ผ่านมา มียอดคนไข้อยู่ที่ 205 ราย
ส่วนสาเหตุที่สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เพื่อยกระดับบริการให้เป็นที่ยอมรับ และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ในช่วงแรกกังวลว่าการเข้าร่วมจะทำให้ยุ่งยากหรือไม่ แต่จากที่ได้รับคำแนะนำจากสภาการพยาบาลก็มั่นใจว่า เรามีศักยภาพที่จะเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมได้ ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นด้วยกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะทำให้คนไทยมีสิทธิเข้าถึงการรักษา และได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีคุณภาพและมาตรฐาน