นักวิชาการอังกฤษชี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เป็นภาระทางการเงินการคลัง แนะนำไทยเตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ ระบุการที่ไทยใช้ภาษีหนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นปัจจัยสำคัญทำให้มีเสถียรภาพ เดินหน้าได้เร็วกว่าประเทศอื่น และพิสูจน์ว่าประเทศที่ไม่ร่ำรวยสามารถใช้ภาษีเพื่อสุขภาพประชาชนได้โดยไม่ล้มละลาย
ศาสตราจารย์ แอนน์ มิลส์ (Anne Mills) รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณสุขและเศรษฐศาสตร์สุขภาพ ซึ่งได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาการแพทย์ประจำปี 2552 กล่าวว่า วิธีการจัดสรรงบประมาณจากภาษีของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย โดยใช้รูปแบบ “งบเหมาจ่ายรายหัว” ถือว่าเป็นวิธีการบริการเงินที่มีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมรายจ่าย ขณะที่ทำให้คนไทย 48 ล้านคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้
“ตอนที่เริ่มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประเทศไทยกล้ามากที่ใช้งบประมาณจากภาษี เพราะส่วนมากแล้ว ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างมักไม่นิยมโมเดลการจ่ายสวัสดิการด้วยภาษี เพราะยังจัดเก็ยภาษีได้ไม่มากนัก” ศาสตราจารย์มิลส์กล่าว และว่า “การใช้เงินภาษีสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยมีเสถียรภาพ เดินหน้าได้เร็วกว่าประเทศอื่น ประเทศไทยพิสูจน์ให้เห็นว่าประเทศที่ไม่ร่ำรวยสามารถนำภาษีมาใช้จ่ายเพื่อสุขภาพประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบยังไม่ล้มละลายจนถึงทุกวันนี้”
ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวในปี 2546 ที่ 1,202.40 บาท/คน/ปี รวมเป็นงบประมาณ 56,091 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 งบเพิ่มเป็น 3,426.56 บาท/คน/ปี รวมเป็นงบประมาณ 166,445 ล้านบาท
แม้ว่างบเหมาจ่ายรายหัวจะสูงขึ้นถึง 3 เท่าในระยะ 17 ปีที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของจีดีพี ซึ่งศาสตราจารย์มิลส์เห็นว่าเป็นอัตราส่วนที่ “เป็นเหตุเป็นผล” และสะท้อนว่าประเทศไทย “ยังมีความสามารถจ่ายให้กับระบบสุขภาพได้อีก”
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์มิลส์แนะนำว่าการเปลี่ยนแปลงของประชากรไทย โดยจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในอนาคตเป็นความท้าทายใหญ่ที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องจัดการ โดยผู้สูงอายุจะมีอายุยืนขึ้น และอาจมีอาการป่วยเรื้อรัง ซึ่งนั่นหมายถึงภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายจากลักษณะครอบครัวที่เปลี่ยนไปเป็นครอบครัวเดี่ยว ซึ่งอาจทำให้ครอบครัวไม่มีสมาชิกที่จะมาดูแลผู้สูงอายุอยู่กับบ้าน
“โชคดีที่ประเทศไทยรู้ว่าตนเองจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแต่เนิ่นๆ จึงพอมีเวลาในการวางแผนระบบในอนาคต” ศาสตราจารย์มิลส์กล่าว “ระบบต้องสร้างสมดุลของการพัฒนาบริการที่โรงพยาบาล และการทำให้คนสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องมาลงเอยที่โรงพยาบาลในทุกกรณี จนอาจทำให้โรงพยาบาลมีผู้ป่วยแออัดมากไปกว่านี้”
ในเชิงรูปธรรม ศาสตราจารย์มิลส์เสนอว่าอาจต้องมีการพัฒนาศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว หรือสนับสนุนให้สมาชิกในครัวเรือนช่วยดูแลกันและกัน และควรเน้นการส่งเสริมป้องกันโรค เพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรค และลดความรุนแรงของอาการป่วย ซึ่งประเทศไทยก็ทำนโยบายส่งเสริมป้องกันโรคมาตลอด แต่ยังสามารถพัฒนาได้ดีกว่านี้