เพราะเด็กและเยาวชนคือพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต และการเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนในกระบวนการคิดและลงมือทำก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่จะสามารถช่วยสร้างเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและมองเห็นคุณค่าในตัวเองของเยาวชนได้
ด้วยเหตุนี้ทาง “กลุ่มไม้ขีดไฟ” ที่ดำเนินงานด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรักท้องถิ่น สามารถดูแลตนเองและช่วยเหลือสังคมได้ จึงได้จัดกิจกรรม มหกรรมพลังรุ่นใหม่ “เบิกบานลานเรียนรู้” บริเวณลานสวนรักย่าโม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ขึ้นโดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.), เทศบาลนครนครราชสีมา, เครือข่ายโคราชเดิ่นยิ้ม, เครือข่ายกิจกรรมจังหวัดรอบเขาใหญ่ และมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา
ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลัง สุมณฑา ปลื้มสูงเนิน ผู้จัดการโครงการพลังรุ่นใหม่ พลังสร้างสรรค์สังคม กลุ่มไม้ขีดไฟ เล่าว่าทางกลุ่มทำงานกับเยาวชนในพื้นที่ปากช่อง และจังหวัดต่างๆ รอบเขาใหญ่ ได้แก่ นครนายก สระบุรี และนครราชสีมา จำนวน 23 กลุ่ม เมื่อแต่ละกลุ่มได้ทำงานผ่านไปประมาณ 10 เดือน จึงได้จัดกิจกรรม “เบิกบานลานเรียนรู้” ขึ้นมาเพื่อให้แต่ละกลุ่มได้มารวมตัวกัน และนำกิจกรรมต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างหลากหลาย
“โครงการนี้เปิดโอกาสเด็กและเยาวชนได้กิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่บ้านของตนเอง ที่มีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไปตามประเด็นที่ตนเองสนใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การสืบสานภูมิปัญญาชุมชน เรื่องพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ การอนุรักษ์ลำน้ำฯลฯ” ผู้จัดการโครงการฯ กล่าว
ซึ่งถึงแม้จะจบโครงการไปแล้วเยาวชนหลายกลุ่มยังคงดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ต่อไป โดยในบางพื้นที่จะมีกลุ่มพี่เลี้ยงในชุมชนให้การดูแล เช่น พี่เลี้ยงที่มาจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือผู้ใหญ่ที่เห็นความสำคัญให้การสนับสนุน และบางส่วนก็จะมีรุ่นพี่ชักชวนให้ไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ
“อย่างในจังหวัดนครนายก จะมีทีมหนุนเสริมซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว มาเป็นพี่เลี้ยงพอจบโครงการนี้ก็ไปทำงานต่อกับกลุ่มพี่เลี้ยงต่อได้เลยในกิจกรรมอื่นๆ และไม่ได้ทิ้งงานเดิมที่ทำในหมู่บ้าน เท่าที่ดูโครงการต่างๆ เราเน้นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้เด็กๆได้มีส่วนร่วม แต่โดยสัดส่วนโครงการที่เข้ามา ก็จะเป็นโครงการที่เน้น 2 เรื่องหลักๆ คือ โครงการสร้างพื้นที่ดีๆในชุมชนผ่านงานศิลปวัฒนธรรม กับงานเชิงสิ่งแวดล้อมและประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ” ผู้จัดการโครงการ กล่าวย้ำ
มนพร แก้วอินธิ ผู้รับผิดชอบโครงการเด็กลองรักษ์ (อาหาร) จาก โรงเรียนบ้านนา(นายกพิทยากร) ซึ่งร่วมกับเพื่อนแปรรูปกล้วยหอมที่ใกล้เสียให้กลายเป็นขนมเค้กกล้วยหอม เล่าว่าได้แนวคิดจากชาวสวีเดนรายหนึ่งที่ทำโครงการนำวัตถุดิบอาหารที่ใกล้เสียมาแปรปรุงใหม่ จึงนำแนวคิดนี้มาทำงานในพื้นที่ร่วมกับกลุ่มเพื่อนอีก 5 คน โดยแบ่งหน้าที่ทำตามถนัด
“เคยไปซื้ออาหาร ผลไม้ที่ไม่สวยสวยงามก็มักจะถูกทิ้ง เวลาไปออกบูธหลายๆที่ ก็จะนำวัตถุดิบเหล่านี้มาประกอบอาหารและแจกจ่ายฟรี เพราะเรามองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว อาหารบางอย่างที่แปรรูปได้ถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ทั้งๆที่นำมาแปรรูปทำใหม่ได้ และก่อนลงมือทำงานทุกครั้งก็จะมีการพูดคุยอยู่เสมอ ในการทำงานอาจมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่เมื่อมีโอกาสทำงานบ่อยครั้งการประสานงานก็ดีขึ้น สิ่งสำคัญก็คือเกิดเป็นมิตรภาพที่ทุกคนได้รับจากการทำงานร่วมกัน” มนพรกล่าว
ขณะที่ ณัฐวรรณ ศสินันทนานุกูล แกนนำกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าสัก จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยสระบุรี ซึ่งนำชุดตรวจสอบคุณภาพน้ำมาสาธิตในงาน เล่าว่าแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสำคัญของสระบุรี ที่ผ่านมาพบว่าบางพื้นที่มีน้ำเสีย ทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆตาย ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่จึงได้รวมกลุ่มเยาวชนขึ้นมาและมีอาจารย์คอยให้คำปรึกษา โดยบูรณาการความรู้ในวิชาเคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ มาดำเนินกิจกรรมตรวจสอบคุณภาพน้ำตามจุดที่กำหนดไว้ ซึ่งการตรวจสอบการวัดค่าคุณภาพน้ำก็ไม่ยากไม่ได้ซับซ้อนเกินไปกว่าที่เด็กๆ จะทำได้
“แนวคิดที่เรารวมตัวกันมาจากปัญหาที่เกิดขึ้น น้ำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอุปโภค บริโภค หากน้ำเน่าเสียไม่มีคุณภาพย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของเรา เลยมาคิดทางแก้ไขปัญหานี้ไม่ให้มันเกิดขึ้นในบ้านของเราหรือในท้องถิ่นของเรา” แกนนำกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าสักกล่าว
ณัฐววรรณ ยังบอกด้วยว่านอกจากการตรวจวัดค่าน้ำ ทำให้ได้ลงพื้นที่ตามหมู่บ้านเพื่อไปแนะนำการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มีการทำน้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อนำไปใช้บำบัดน้ำเสีย การผลิตน้ำยาเอนกประสงค์ การทำครีมอาบน้ำสมุนไพร โดยตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการฯ เธอและเพื่อนๆ รู้สึกภูมิใจที่มีส่วนช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือจังหวัดที่ตัวเองอาศัย และช่วยเหลือประเทศชาติ แม้จะเป็นเรื่องที่ดูว่าเป็นสิ่งเล็กๆ แต่ก็อาจจะเป็นตัวอย่างในการดำเนินการในแนวทางเดียวกันในลักษณะนี้ในพื้นที่อื่นๆได้
การเปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้คิดและลงมือทำกิจกรรมสร้างสรรค์ นอกจากจะทำให้เด็กและเยาวชนมีทักษะและกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของตนเองในมิติต่างๆ แล้ว กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ยังทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนในท้องถิ่นได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทุกคนร่วมกันทำขึ้นมาในชุมชน และส่งผลให้เกิดการพลังความร่วมมือเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชนของตนเองอย่างต่อเนื่อง.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/