สนพ. ผลักดันโครงข่ายสมาร์ทกริด เพิ่มประสิทธิภาพกำลังผลิตไฟฟ้า เปิดเวทีสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจสู่ประชาชน
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจพร้อมดันแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด (Smart Grid) เทคโนโลยีการใช้พลังงานในอนาคตที่ตอบโจทย์สังคมพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำ ย้ำช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบไฟฟ้า โดยใช้ทรัพยากรน้อยลง
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าประเทศ จึงได้จัดสัมมมา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ขึ้น เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ทราบถึงเทคโนโลยีสมาร์ทกริด ที่เข้ามามีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาในภาพรวมของอุตสาหกรรมไฟฟ้า รวมทั้งการพัฒนาตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ระบบไฟฟ้าปฏิบัติงานได้มากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง (Doing More with Less)
“ในอนาคตการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนจะเริ่มเข้ามาสู่ระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศมากขึ้นโดยผ่านระบบการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการ (พ.ศ. 2558 – 2559) ระยะสั้น (พ.ศ. 2560 – 2564) ระยะปานกลาง (พ.ศ. 2565 – 2574) และระยะยาว (พ.ศ. 2575 – 2579) เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มั่นคงและเพียงพอ”
สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 และ 17 มีนาคม 2558 ซึ่งแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 ได้วางนโยบายและกรอบทิศทางการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยในภาพรวม เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐคือ 3 การไฟฟ้า กฟผ. กฟภ. กฟน. และภาคเอกชน ได้กำหนดทิศทางแผนการพัฒนาและการลงทุนที่สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาตามนโยบายของประเทศ
ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าสร้างให้เกิด Smart System , Smart Life และ Green Society โดย Smart System จะช่วยลดความต้องการโรงไฟฟ้าสำรอง จำนวนการเกิดไฟฟ้าดับ และ Loss จากการส่งและจำหน่ายไฟฟ้าได้ Smart Life จะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมีความทันสมัย สะดวกสบายมากขึ้นจากเทคโนโลยีการใช้พลังงานในอนาคต และ Green Society จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 15 และมีการพัฒนาระบบ Micro Grid เพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนในชุมชน
สำหรับกิจกรรมการจัดสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” ที่จัดขึ้นในวันที่ 30 ต.ค. 2562 ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความรู้ ความเข้าใจของสาธารณชนต่อแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ดกริด ที่ได้ถูกบรรจุเข้าไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2018) โดย สนพ. จะจัดสัมมนาให้ความรู้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบนโยบาย แผนงาน และทิศทางการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต