กองทุนบัตรทอง ตั้งเป้าเพิ่มการเข้าถึงบริการป้องกันฟันผุ และส่งเสริมสุขภาพในช่องปาก สำหรับ“เด็กไทย” และ “หญิงตั้งครรภ์” ทุกคน โดยปรับระบบการบริหารงบเหมาจ่ายรายหัวด้านส่งเสริมป้องกันโรค มาเป็น “จ่ายตามรายบริการ” จำนวน 3 รายการ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ในปี 2563 หวังเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทย
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพในช่องปากของเด็กวัยเรียนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก ขณะที่เด็กกว่า 50% ยังคงมีฟันผุ แต่ได้รับการตรวจฟันไม่ถึงครึ่งหนึ่ง อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสภาวะสุขภาพช่องปากของเด็ก คือ สุขภาพช่องปากของแม่ขณะตั้งครรภ์ โดยแม่ที่สุขภาพช่องปากไม่ดี ฟันผุมาก ลูกจะมีความเสี่ยงเกิดฟันผุเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ช่วงตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่มีโอกาสพบปัญหาสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ จากการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาและฮอร์โมน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักลูกแรกเกิดน้อย
การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากแก่หญิงตั้งครรภ์และเด็กวัยเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญในการวางรากฐานการมีสุขภาพช่องปากที่ดี ในปีงบประมาณ 2563 สปสช.โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงกำหนดให้หญิงตั้งครรภ์และเด็กวัยเรียนเข้าถึงบริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกันเพิ่มขึ้น โดยปรับการจ่ายค่าบริการจากเดิมเหมาจ่ายรวมไปกับงานส่งเสริมป้องกันโรคอื่น ๆ มาเป็นการจ่ายชดเชยตามรายการบริการ (Fee schedule) ใน 3 รายการ ดังนี้
1.บริการตรวจและป้องกันสุขภาพช่องปากในหญิงตั้งครรภ์ จากแต่เดิมการชดเชยค่าบริการจะเหมารวมอยู่ในงบบริการฝากครรภ์ ทั้งนี้เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการตรวจสุขภาพในช่องปาก ขัดและทำความสะอาดฟันรวมถึงขูดหินน้ำลาย อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยอัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการอยู่ที่ 500 บาท/ราย กำหนดเป้าหมายการบริการ 221,760 คน งบประมาณจำนวน 110.88 ล้านบาท
2.บริการเคลือบฟลูออไรด์ในเด็กอายุ 4-12 ปี เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ฟัน อย่างน้อย 1ครั้งต่อปี อัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการ 100 บาท/ครั้ง กำหนดเป้าหมายบริการ 2,005,740 คน งบประมาณจำนวน 200.57 ล้านบาท
3.บริการเคลือบหลุมร่องฟันกรามถาวร (ซี่ 6 และ 7) ในเด็กอายุ 6-12 ปี เพื่อป้องกันฟันแท้ผุ ในอัตรา 250 บาท/ซี่ (ไม่เกิน 4 ซี่/ราย/ปี) เป้าหมายบริการ 1,046,110 คน งบประมาณจำนวน 261.52 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การปรับปรุงการบริหารจัดการบริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกันครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย และ สปสช. อย่างใกล้ชิด โดยหน่วยบริการทั้งโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะเบิกจ่ายชดเชยได้ตามการบริการ เชื่อว่าจะส่งผลให้มีการจัดบริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกันเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ ทำให้หญิงตั้งครรภ์และเด็ก ๆ ได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างครอบคลุมและทั่วถึง