สำนักงาน กสม. ร่วมกับสถาบันนโยบายศึกษา จัดเสวนาเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมือง ชี้การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปสร้างความเสียหายละเมิดสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2562 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับสถาบันนโยบายศึกษา จัดเสวนาเรื่อง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมือง ณ โรงแรมเมอร์เคียว ไอบิส กรุงเทพ สยาม โดยมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้อมูลส่วนบุคคลเข้าร่วมจำนวนมาก
นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าในยุคไร้พรมแดนที่ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้พลเมืองในประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ที่ใดสามารถรับรู้สัมพันธ์หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง อันเนื่องมาจากการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจากการเชื่อมโยงระบบอินเตอร์เน็ตแบบออนไลน์เข้าหากันเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ครอบคลุมดินแดนของทุกประเทศ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการติดต่อสื่อสารจะรวดเร็ว แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือการสูญเสียสิทธิความเป็นส่วนตัว กล่าวคือข้อมูลส่วนบุคคลจะปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ อาทิ การทะเบียนราษฎร การใช้บริการทางการแพทย์ การจดทะเบียนประกอบธุรกิจ การขอใช้ไฟฟ้า-น้ำประปา การขออนุญาตก่อสร้างอาคาร เป็นต้น
ส่วนภาคธุรกิจเอกชน การเข้าไปผูกนิติสัมพันธ์ในกิจการพาณิชย์และการดำเนินการทางแพ่ง เช่น การขอสินเชื่อกับธนาคาร การเช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ การติดต่อค้าขายหรือการประกอบธุรกิจ ข้อมูลส่วนบุคคลมักถูกจัดเก็บไว้ในระบบอินเตอร์เน็ตทั้งในโปรแกรม เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นหรือไฟล์ดิจิทัลรูปแบบต่าง ๆ แม้กระทั่งข้อมูลส่วนบุคคลในสื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Google YouTube Facebook WhatsApp Instagram Line ที่ไม่สามารถลบออกจากระบบโดยง่าย จึงมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปกระทำการซ้ำโดยไม่ได้รับการยินยอมจากบุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูลและส่งผลให้เกิดความเสียหายบ่อยครั้ง
นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัลซึ่งมีการล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลโดยง่าย ทำให้บุคคลสูญเสียความเป็นส่วนตัวและอาจส่งผลกระทบถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีการออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม ดังนั้น เพื่อนำไปสู่การพิจารณาบริบทในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างรอบด้าน รวมทั้งความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐและประชาชน สถาบันนโยบายศึกษาจึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดให้มีการเสวนาเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้ขึ้น
“ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้มีการเก็บรวบรวม การใช้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ส่งผลให้ข้อมูลส่วนบุคคลถูกทิ้งค้างไว้ในระบบเป็นจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีเพียงพอ ทำให้มีการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวจากข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว เช่น การนำหมายเลขโทรศัพท์ บัญชีเงินฝาก สำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไปสวมรอยก่อคดีฉ้อโกงหรือนำไปใช้ในการหลอกลวงสร้างความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” นายโสพลกล่าว