ปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นลำดับต้นๆ สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ โดยเฉพาะ “ขยะพลาสติก” ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตต่างๆ
เพื่อเป็นการย้ำเตือนและสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี จึงร่วมกับ เทศบาลเมืองแสนสุข มหาวิทยาลัยบูรพา โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า โรงแรม ประมงชายฝั่ง นักท่องเที่ยว ประชาชน และชมรมจักรยานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดบางแสน ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ภายใต้โครงการ “ชุมชนชายหาดบางแสน รวมพลัง Big Cleaning Day ร่วมกันสร้างชายหาดปราศจากพลาสติก” สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิงแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายเจตน์สฤษฎิ์ โชติภูมินันท์ นักศึกษาปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ ปี 2 มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี หัวหน้าทีมขับเคลื่อนแผนงาน “โครงการกำหนดกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก จากการใช้สื่อโซเซียลมีเดียประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมกันทำความดี ตลอดจนได้เห็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน และผู้ประกอบการ ที่ต้องการเห็นชายหาดบางแสน เป็นต้นแบบของแหล่งท่องเที่ยวที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นชายหาดต้นแบบที่ปลอดถุงพลาสติกและขยะพลาสติก
“ผมและเพื่อนๆ จะไม่ยอมให้กิจกรรมลักษณะนี้เงียบหายไป จะขอเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ขยายผลโครงการดีๆ เหล่านี้ เพื่อผลักดันโมเดลชุมชนปลอดพลาสติก รู้คิด รู้ใช้ ไม่เป็นภาระ อย่างยั่งยืน และจะทำกิจกรรมในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องทั้งภายในมหาวิทยาลัยและในชุมชนต่อไป และอยากให้กิจกรรมในวันนี้เป็นต้นแบบหรือเป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นต่อสังคมไทยและแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ได้ยึดถือเป็นตัวอย่าง”
นายกิตติไชย คุณปลื้ม รองนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแสนสุข กล่าวว่า เทศบาลพร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ด้วยปัจจัยหนุนด้านบริบทของพื้นที่ เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 2.7 ล้านคนต่อปี หรือ 7,458 คนต่อวัน และมีการใช้ขยะพลาสติกเฉลี่ย 8 ชิ้นต่อคนต่อวัน
“ในพื้นที่ชายหาดบางแสน เทศบาลได้รณรงค์ให้ผู้ประกอบการร้านค้า เลิกใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว ปัจจุบันไม่มีร้านที่ใช้ภาชนะโฟม เชื่อว่า การรณรงค์ในครั้งนี้จะช่วยทำให้ปริมาณขยะของเทศบาลลดลงได้ เมื่อทุกฝ่ายร่วมกัน ซึ่งทางเทศบาลฯ ก็พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้ชายหาดบางแสนเป็นพื้นที่ต้นแบบกระตุ้นให้ทุกคนที่เข้ามาเที่ยวได้เกิดความตระหนัก และให้ความสำคัญกับปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
กิจกรรม Big Cleaning Day ในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกในมหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อ ว่า “มหาวิทยาลัยปลอดพลาสติก รู้คิด รู้ใช้ ไม่เป็นภาระ อย่างยั่งยืน” หรือ “SPUC PLASTIC SET ZERO” โดยมีการจัดกิจกรรม “SPUC MARKET NONE PLASATIC” สร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่มีต่อสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ที่หลังจากนี้จะไม่มีการนำถุงพลาสติกเข้ามาในมหาวิทยาลัย ไม่มีการให้บริการถุงพลาสติกฟรีอีกต่อไป หากจะใช้ จะมีค่าใช้จ่าย 3 บาทต่อชิ้น เพื่อนำเงินไปจัดการคัดแยกขยะ ตลอดจนมี “ดาวเดือนมหาวิทยาลัย” ร่วมรณรงค์สร้างเทรนด์การใช้ถุงผ้าและแก้วน้ำส่วนตัว รวมทั้งมีจุดรับบริจาคถุงผ้าเพื่อนำมาใข้หมุนเวียน ภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ด้าน นายจำลอง ศรีอ่อน พนักงานบริษัทเอกชนในจังหวัดชลบุรี ที่เดินทางมากับเพื่อนๆ และเด็กๆ ประมาณ 10 กว่าคน เพื่อร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาเก็บขยะชายหาดในวันนี้ เล่าว่า ในฐานะที่เราเป็นเจ้าบ้าน การทำความสะอาดแหล่งท่องเที่ยวในฐานะเจ้าบ้านจึงเป็นเรื่องที่ดี ที่ผู้มาเยือนจะได้ทำตาม และอยากเห็นหาดบางแสนของเราสะอาดตลอดไป
เช่นเดียวกับ นางสกุลรัตน์ ศรีฟ้า แม่ค้าขายอาหารชายหาดบางแสน เล่าว่า กิจกรรมในครั้งนี้ ทุกร้านค้าพร้อมให้ความร่วมมือลดใช้ภาชนะและถุงพลาสติกบรรจุอาหาร โดยจะใช้วัสดุธรรมชาติทดแทน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีลูกค้าเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น มีการนำภาชนะมาใส่เองและไม่รับถุงพลาสติก
“มหาวิทยาลัยศรีปทุมตั้งใจที่จะขยายผลโมเดลชุมชนปลอดพลาสติกต่อเนื่องจากแผนภายในมหาวิทยาลัย โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างแนวร่วมในการรณรงค์ รักษาพื้นที่ชายหาดให้สวยงามและปลอดขยะพลาสติก สร้างเทรนด์การใช้วัสดุทดแทน จะไม่ให้ถุงพลาสติกฟรีอีกต่อไป ด้วยการคิดค่าบริการ 3 บาทต่อชิ้น ซึ่งคาดว่าจะเกิดรายได้ ประมาณ 59,664 บาทต่อวัน เพื่อนำไปใช้ในการจัดการขยะ โดยจะประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มถังขยะแยกประเภท เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน ช่วยลดปริมาณขยะที่จะนำไปกำจัด ตลอดจนจัดพื้นที่ Safe zone ที่ชายหาด และถนนคนเดิน หรือ walking street ให้เป็นชายหาดและตลาดปลอดพลาสติก” นายเจตน์สฤษฎิ์ โชติภูมินันท์ กล่าวถึงเป้าหมายการดำเนินงานในพื้นที่นับจากนี้
สำหรับ โครงการกำหนดกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิงแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายสำคัญ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนารูปแบบกิจกรรมสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนในสถาบันอุดมศึกษา และพัฒนากิจกรรมสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนโดยรอบหรือสถานที่ๆ เหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อนำรูปแบบกิจกรรมดังกล่าวมาวิเคราะห์กลวิธีการสื่อสารและแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในสังคมสู่การบริโภคและการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป