Energy Disruption ระดมภาครัฐ-เอกชนถกทิศทางพลังงานไทย ยุค ดิสรัปชั่น
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดวิสัยทัศน์ ในการสัมมนา Energy Disruption : พลังงานไทย ยุค ดิสรัปชั่น ว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังงานเป็นเรื่องของอนาคต และแทรกซึมอยู่ในทุกมิติ แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไป และพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกกำลังเข้ามาแทนพลังงานฟอสซิล และทิศทางในอนาคตพลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นพลังงานที่เหมาะสมกับประเทศไทย และต่อไปในวงการพลังงานจะเปลี่ยนแปลงไป แต่จะแปรเปลี่ยนไปสู่ยุค Prosumer คือคนส่วนใหญ่จะเป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้ขาย พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานอื่นๆ ได้ด้วย
ทั้งนี้ หัวใจสำคัญการดิสรัปของโลกพลังงานคือระบบกักเก็บพลังงานหรือ Energy Storage เพราะการผลิตพลังงานมีทั้งพลังงานส่วนเกิน และพลังงานที่ปล่อยแล้วสูญเสีย และถ้าหากสามารถทำระบบกักเก็บได้ดี จะนำไปสู่โลกอนาคตของพลังงานที่จะเกิดขึ้น ที่ไม่ใช่เฉพาะวงการพลังงาน แต่จะทำให้สามารถเข้าไปเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตคงหลีกไม่พ้นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV และ EV จะเดินหน้าไปได้อยู่ที่ระบบกักเก็บพลังงาน และเป็นทิศทางที่ประเทศไทยจะต้องเร่งปรับตัว ไม่เพียงประโยชน์ของพลังงาน แต่จะเป็นประโยชน์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่วันนี้ประเทศไทยถือเป็นยักษ์ใหญ่ของภูมิภาค ไม่เช่นนั้นประเทศอินโดนีเซียที่ปัจจุบันกำลังส่งเสริมเรื่อง EV จะแซงหน้าประเทศไทย และอาจจะส่งผลให้ฐานการผลิตรถยนต์ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไปได้
นอกจากนี้ ยังเกี่ยวเนื่องถึงเรื่อง Green Energy ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ และรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นตัวแก้ปัญหาของสิ่งแวดล้อมในอนาคต เพราะถ้าหากไม่แก้ไขเรื่อง Source Energy โดยเฉพาะเรื่องภาคขนส่งต่อไปจะต้องเจอปัญหา PM 2.5 ที่จะเป็นกับดักของสิ่งแวดล้อม การแก้ไข PM 2.5 จะเป็นเรื่องยากถ้าหากรถยนต์ยังใช้เชื้อเพลิงแบบเดิม ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นทิศทางหนึ่ง แต่ระหว่างทางจะเป็นกลุ่ม Biofuel เช่น ปาล์มน้ำมันที่จะช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในเรื่องไบโอดีเซลจะไม่เกิดผลกระทบการดิสรัปในเชิงเทคโนโลยีแต่จะไปช่วยให้เกษตรกรมีความแข็งแกร่ง มีความยั่งยืนในการแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรในอนาคต
“ดิสรัปทั้งหมดนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าดิสรัปนั้นไม่ส่งต่อพี่น้องประชาชน ถ้าดิสรัปนั้นไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ในการกำหนดทิศทางให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน ให้ประเทศมีความมั่นคงในด้านพลังงาน และสิ่งที่สำคัญควบคู่กับการจัดการดิสรัปชั่น คือ การเลือกการเปลี่ยนผ่านดิสรัปชั่นให้สอดรับกับจุดแข็งของประเทศ ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวสรุปถึงนโยบายของกระทรวงพลังงานเพื่อรับยุคดิสรัปชั่น ว่า ประกอบไปด้วย 4D และ1E ได้แก่
-Digitalization สนับสนุนการยกระดับโครงข่ายไฟฟ้าให้เป็น Smart Grid สนับสนุนการพัฒนา Energy Storage สร้างเสถียรภาพให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนที่มีชาวบ้านเป็นเจ้าของ และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานอาเซียน
-Decarbonizatiom ลดคาร์บอน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่มีปล่อยคาร์บอนน้อยลง ผลิตและใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล และชีวภาพ หนุนนโยบายให้ภาคพลังงานดูดซับสินค้าเกษตรส่วนเกินมาผสมน้ำมันเพื่อลดคาร์บอน และยังช่วยยกระดับราคา ผ่านการผลิตและใช้ B7, B10 และ B20
-Decentralization สนับสนุนการส่งผ่านกระแสไฟฟ้าผ่านระบบสายส่ง และนอกระบบสายส่ง สนับสนุนการสร้างความสมดุลของพื้นที่ไฟฟ้าในทุกภูมิภาค และอยู่ระหว่างสำรวจเครือข่ายพลังงานทั่วประเทศให้ชัดเจนในการเชื่อมโยงโรงไฟฟ้าระดับชุมชนทั่วประเทศ
-De-Regulation บริหารโดยมีความยืดหยุ่นในการลงทุน ผ่อนคลายกฎระเบียบ ลดต้นทุน ส่งเสริมให้เกิด Start Up ด้านพลังงาน แก้ไขกฎเกณฑ์กองทุนอนุรักษ์ส่งเสริมพลังงานให้ส่งเสริมธุรกิจพลังงานชุมชน
-Electrification ขยายระบบโครงข่ายรถไฟฟ้า และส่งเสริมยานยนต์ EV
ด้าน นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงปัญหาสถานการณ์พลังงานไทยว่า ในปัจจุบันความเสี่ยงของโลก มี 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรา 1.ภูมิอากาศที่ยากจะคาดเดา 2.ความไม่สำเร็จของการลดภาวะโลกร้อน 3.การขาดแคลนน้ำ ซึ่งสังคมโลกกล่าวโทษว่าพลังงานเป็นต้นเหตุ จะเห็นได้ว่า ทิศทางของโลกจะเปลี่ยนแปลงจากยุคฟอสซิลซึ่งเป็น First Generation System ไปสู่ Second Generation System คือพลังงานทดแทน ซึ่งภารกิจ กฟผ.จะต้องบริหารจัดการ Integrated ฟอสซิลกับพลังงานทดแทนให้ไปได้อย่างราบรื่นไม่กระทบต่อผู้ใช้ มีต้นทุนที่ต่ำที่สุด เพื่อรักษาความมั่นคง และความเพียงพอของไฟฟ้าภายในประเทศ แนวทางปฏิบัติจึงต้องสร้างความยืดหยุ่นให้เกิดขึ้นกับระบบ Grid ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มากกว่าความต้องการใช้ เพราะมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ทาง กฟผ. จึงสนับสนุนนโยบาย Grid Connectivity ของรัฐ พร้อมเตรียมตัวรับกับการเปิดเสรี ศึกษาเรื่องการตั้ง Energy Trading ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเพื่อเตรียมสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานอาเซียน
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวประเมินสถานการณ์โลกด้านการผลิตไฟฟ้าว่า ระยะยาว 20-30 ปีจะขึ้นอยู่กับพลังงานทดแทนเป็นหลักสัดส่วนมากถึง 60% ขณะที่สถานการณ์ด้านราคาน้ำมันโลกจะไม่ปรับขึ้นไปมากกว่า 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มองราคาพลังงานจะค่อนข้างเสถียรถ้าไม่มีปัจจัยระยะสั้นเข้ามากระทบ
ทั้งนี้ ปตท.ได้วางโครงสร้างองค์กรรับมือกระแสเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี มี New Business ปรับ Business Model ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมยกตัวอย่าง ปั๊ม ปตท. ที่วางแนวทางไว้ว่าไม่ได้เป็นแค่ปั๊มน้ำมัน แต่เป็น Life Station แปลงธุรกิจไปหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คนยุคปัจจุบัน เช่น การมีร้านสะดวกซื้อ ฟาสต์ฟู้ด ร้านกาแฟ เป็นต้น