มกอช.ผ่าวิกฤติราคามังคุดภาคใต้ สบช่องไต้หวันเปิดตลาดนำเข้ามังคุดไทย เร่งลงพื้นที่เอบรมชาวสวนมังคุดแปลงใหญ่ภาคใต้เข้าสู่มาตรฐาน GAP หวังยกระดับคุณภาพผลผลิตสอดคล้องความต้องการของตลาด พร้อมเทรนการขายผลผลิตผ่าน DGTFarm.com มุ่งระบายผลผลิตออกสู่ตลาดภายในและต่างประเทศ ยกระดับเสถียรภาพราคามังคุดชาวใต้แบบยั่งยืน
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาผลผลิตมังคุดของเกษตรกรภาคใต้กำลังประสบปัญหาตกต่ำ มกอช.ได้ลงพื้นที่พบปะและจัดโครงการอบรมเรื่องตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์(DGTFarm.com)ของมกอช.แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ผลิตไม้ผลมังคุดแบบเกษตรแปลงใหญ่ Smart Farmer และผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งปลูกมังคุดแหล่งสำคัญของภาคใต้
สำหรับโครงการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGTFarm.com นั้น นับเป็นช่องขยายโอกาสทางตลาดให้กับเกษตรกร รวมทั้งช่วยลดทั้งต้นทุน การสร้างร้านค้า ลดระยะเวลา สามารถค้าขายได้ทุกที่ ทุกเวลาและเป็นช่องทางกระจายสินค้าเกษตรที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐานจากผู้ผลิต ส่งตรงถึงผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างโอกาสในการแข่งขันทางการค้าให้กับเกษตรกรและให้ผู้บริโภคสามารถเข้ามาเลือกซื้อสินค้าหรือช้อปปิ้งมังคุดหรือไม้ผลอื่นๆสดๆจากสวนของเกษตรโดยตรง ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยยกระดับราคามังคุดของเกษตรกรให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันราคามังคุดในท้องตลาดมีราคา 20-25บาท/กก. ในขณะราคาพ่อค้าคนกลางรับซื้ออยู่ที่ 5-8 บาท/กก.เท่านั้น
นางสาวจูอะดี กล่าวด้วยว่า นอกจากการเร่งลงพื้นที่เพื่ออบรมระบบซื้อขายผลไม้ทางออนไลน์เว็บไซต์ดีจีทีฟาร์มดอทคอมแล้ว มกอช.ยังได้จัดอบรมให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมของเกษตรกรในการเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร หรือGAPและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลมังคุดแบบเกษตรแปลงใหญ่อีกด้วย โดยชี้ให้เกษตรกรเกิดความตระหนักในการเป็นผู้ผลิตพืชปลอดภัยที่จะยกระดับการผลิตและขยายโอกาสในการส่งออกไม้ผลมังคุดระบบแปลงใหญ่ให้คุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม นับเป็นข่าวดีของเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดภาคใต้ เนื่องจากล่าสุดไต้หวันได้ประกาศเปิดตลาดมังคุดให้แก่ไทยอย่างเป็นทางการเป็นผลสำเร็จและเป็นประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกแรกที่ทางไต้หวันอนุญาตให้นำเข้าได้ หลังจากไต้หวันยกเลิกการนำเข้ามังคุดจากไทยมานานกว่า 16 ปี นับ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เนื่องจากมังคุดเป็นพืชอาศัยของแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นศัตรูพืชกักกันของไต้หวันจนถูกประกาศห้ามนำเข้ามังคุดจากประเทศไทยในที่สุด ซึ่งเพื่อเตรียมพร้อมในการส่งออกมังคุดไทยไปไต้หวัน ทางไทยได้ดำเนินการแจ้งเวียนร่างเงื่อนไขการนำเข้ามังคุดไทยต่อประเทศสมาชิกWTO ตามประกาศแจ้งเวียนหมายเลข G/SPS/N/TPKM/495 พร้อมทั้งเปิดรับฟังข้อคิดเห็นของประเทศสมาชิกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญ คือ ผลมังคุด (Garcinia mangostana) จะต้องผ่านกระบวนการกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีการอบไอน้ำ (Vapour Heat Treatment: VHT) และมาตรการจัดการที่เกี่ยวข้องเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช carambola fruit fly (Bactrocera carambolae) และ papaya fruit fly (Bactrocera papayae Drew & Hancock) เมื่อผ่านกระบวนการดังกล่าวแล้วก็จะสามารถส่งมังคุดไปไต้หวันได้ นอกจากนี้ไทยยังได้เจราจาให้ไต้หวันเขามาตรวจสวนมังคุดของไทย
ซึ่งถ้าเป็นไปได้จะเร่งส่งออกให้ทันรอบฤดูกาลการส่งออกไม้ผลภาคใต้ในปีนี้ แต่หากดำเนินการไม่ทันปีหน้ามังคุดซึ่งเป็นราชินีผลไม้ของไทยสามารถส่งออกไปยังไต้หวันได้อย่างแน่นอน
“จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกษตรกรในพื้นที่นครศรีธรรมราช ทราบว่ามีเกษตรกรที่มีอาชีพทำสวนมังคุดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดองค์ความรู้ในการผลิตมังคุดคุณภาพทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่เป็นที่ต้องการของตลาด มีราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรเกิดความย่อท้อต่อการทำการเกษตร แต่หลังจากได้เข้ามาสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการทำเกษตรแปลงใหญ่และเข้ามาสู่ระบบ GAPและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยเฉพาะจีนและไต้หวัน” นางสาวจูอะดี
นางสาวจูอะดี กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันภาคใต้สามารถผลิตมังคุดที่มีคุณภาพดี มีรสชาติดีเมื่อเทียบกับมังคุดในภูมิภาคอื่นของประเทศ เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จากความมีเอกลักษณ์ในรูปร่างของผลที่สวย และมีรสชาติที่หวานอมเปรี้ยว ถูกปากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจนได้รับฉายาว่า“Queen of Fruits” และมังคุดจึงจัดเป็นผลไม้ที่มีศักยภาพสูงในการส่งออก ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลกมูลค่าปีละมากกว่า 1,500 ล้าน โดยส่งออกไปจำหน่ายทั้งในรูปผลสดและผลแช่แข็ง ซึ่งส่งออกในรูปของผลสดจำนวน80,000ตันและส่งออกในรูปของผลแช่แข็งจำนวน 40,000 ตันและในอนาคตมีแนวโน้มว่ามังคุดจะมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้ขยายตลาดการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนซึ่งมีประชากรสูง