สปสช.จับมือ มสธ.อบรมเชิงปฏิบัติการ สื่อสารความรู้สิทธิหลักประกันสุขภาพกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ใน จ.นครศรีธรรมราช เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจสิทธิบัตรทอง นำไปสื่อสารภายในชุมชนต่อไป
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จัดประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการนักปกครองท้องที่ รับรู้แบรนด์ สปสช. และสายด่วน 1330 โดยผู้เข้ารับการอบรมเป็นนักปกครองท้องที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล) จำนวน 60 คน
นายธีระพันธ์ ลิมป์พูน ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารสังคม สปสช. กล่าวว่า สปสช.ได้ร่วมกับ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มสธ. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการนักปกครองท้องที่ให้รับรู้ สปสช. และสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อให้นักปกครองท้องที่ซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชนมากที่สุดได้รับรู้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท และสามารถสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจ นำไปสู่การใช้สิทธิบัตรทองได้ถูกต้อง ตามสิทธิประโยชน์ และเป็นส่วนหนึ่งของนักสื่อสารหลักประกันสุขภาพเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจสิทธิหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป
นายธีระพันธ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2562 นี้ ได้เริ่มนำร่องที่เขต 11 สุราษฎร์ธานี โดยจัดอบรมไปแล้ว 2 ครั้งที่ จ.ชุมพร และ จ.สุราษฎร์ธานี และที่ จ.นครศรีธรรมราชนี้ เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งนักปกครองท้องถิ่นที่เข้าร่วมนั้น เป็นนักศึกษาที่เรียนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มสธ. การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้จะช่วยสนับสนุนการทำงานของนักปกครองท้องที่ โดยกิจกรรมในวันนี้จะมีการให้ความรู้สถานการณ์สุขภาพของจังหวัดนครศรีธรรมราช และงานคุ้มครองสิทธิและบริการประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.นครศรีธรรมราช และการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพประจำตำบล
นายอุทัย หมั่นเทียนติพันธ์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือที่รู้จักกันในชื่อสิทธิบัตรทองหรือสิทธิ 30 บาทนั้น เป็นสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนส่วนใหญ่หรือประมาณกว่า 48 ล้านคน โดยการอบรมครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายคือ นักปกครองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล ซึ่งอยู่ใกล้ชิดประชาชนในชุมชนหรือในพื้นที่มากที่สุด และประชาชนส่วนใหญ่ก็จะมีสิทธิบัตรทองนี้ ดังนั้น สปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานีจึงเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกที่ร่วมมือกับ มสธ.ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้กลุ่มนักปกครองในพื้นที่ได้รู้จักข้อมูลสิทธิบัตรทอง สิทธิประโยชน์ต่างๆ ขั้นตอนการใช้บริการ เพื่อนำไปสื่อสารให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เกิดเป็นเครือข่ายนักสื่อสารหลักประกันสุขภาพเพื่อร่วมบริการประชาชนในพื้นที่ของตน และในปี 2563 จะขยายให้ครบทุกจังหวัดในเขต 11 สุราษฎร์ธานี คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง
ผศ.ดร.สุภาภรณ์ ศรีดี ประธานกรรมการประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายคือนักปกครองท้องที่ซึ่งใกล้ชิดชุมชนมากที่สุด ซึ่งนักปกครองท้องที่เหล่านี้เรียนสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มสธ. การได้รับความรู้เกี่ยวกับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในแง่มุมต่างๆ จะช่วยหนุนเสริมการทำงานเพื่อประชาชนได้มากขึ้น ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ของ มสธ.คือ การศึกษาตลอดชีวิตสำหรับทุกคน และเป็นสิ่งที่ดีที่สถาบันการศึกษาได้มีส่วนร่วมกับ สปสช.ในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อประชาชน