2 คณะอนุกรรมการกองทุนบัตรทอง ลงพื้นที่เขต 13 กทม. ติดตามการดำเนินงานด้านคุณภาพและมาตรฐานบริการ รุกนโยบายรัฐ “คลินิกหมอครอบครัว” อุดช่องว่างดูแลคน กทม.เข้าถึงบริการสุขภาพ เริ่มดำเนินการแล้ว 11 เขต หน่วยบริการเข้าร่วม 58 แห่ง ปี 63 เดินหน้าเพิ่ม 12 เขต พร้อมตรวจเยี่ยม “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” เตรียมรวบรวมปัญหาและอุปสรรค สู่การปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
ที่งานบริการสุขภาพปฐมภูมิศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร คณะอนุกรรมการกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการ ภายใต้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานด้านคุณภาพและมาตรฐานบริการและหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมี ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งมี อปสข. และ อคม.เขต 13 กทม.ให้การต้อนรับ ผู้บริหารและทีมงานศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอาม งานบริการสุขภาพปฐมภูมิศิริราช โรงพยาบาลวิชัยเวชสามแยกไฟฉาย และร้ายยาชุมชนอบอุ่นปิ่นเกล้า 2 เภสัช นำเสนอผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินงานในพื้นที่ พร้อมทั้งเยี่ยมชมการดำเนินงาน “บริการสุขภาพปฐมภูมิศิริราชหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” และ “ร้านยาปิ่นเกล้า 2 เภสัช” ที่ได้ร่วมในโครงการร้านยาชุมชนอบอุ่น
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานอนุกรรมการกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการ กล่าวว่า การจัดบริการปฐมภูมิเป็นหนึ่งในนโยบายหลักรัฐบาล เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างครอบคลุมและทั่วถึง และเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ซึ่ง กทม.เป็นพื้นที่มีลักษณะแตกต่างจากต่างจังหวัด ตั้งแต่รูปแบบบริการที่มีตั้งแต่ระดับปฐมภูมิถึงตติยภูมิ มีโรงเรียนแพทย์ 7 แห่งจาก 13 แห่งทั่วประเทศ คลินิกชุมชนอบอุ่น 170 แห่ง เป็นที่รวมบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ เครือข่ายภาคประชาชนเข้มแข็ง มีอาสาสมัครสาธารณสุขประมาณ 10,000 คนกระจายทั่ว 50 เขต ใน กทม. ปริมาณประชากรหนาแน่น เฉพาะตามทะเบียนประมาณ 8 ล้านคน หากรวมประชากรแฝงจะมีราว 13 ล้านคน ทั้งกลุ่มประชากรยังมีความหลากหลาย มีความเป็นสังคมเมือง พื้นที่ซับซ้อน ทำให้มีความแตกต่างในการรับบริการ ส่งผลให้รูปแบบการจัดบริการสุขภาพรวมถึงระบบปฐมภูมิในพื้นที่ กทม.มีความแตกต่างและหลากหลาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและตัวชี้วัด รวมถึงเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิฯ
การลงพื้นที่ในวันนี้นอกจากเป็นการรับทราบปัญหาและอุปสรรค รับทราบข้อมูลการจัดบริการและการเข้าถึงบริการปฐมภูมิในพื้นที่ อาทิ การขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณ แล้วยังได้เยี่ยมชมนวัตกรรมการจัดบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลศิริราช และร้านยาชุมชนอบอุ่นในพื้นที่ ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และหารือในบอร์ด สปสช. เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิต่อไป
นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การดำเนินงานด้านสุขภาพคน กทม. เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่า กทม. โดยพร้อมสนับสนุนนโยบายหมอครอบครัวของรัฐบาลและการดำเนินงาน สปสช. ซึ่ง กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ใน 50 เขต โดยแต่ละแห่งจะทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยบริการในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อน ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการคลินิกหมอครอบครัวแล้ว 11 เขต หน่วยบริการเข้าร่วม 58 แห่ง ปี 2561 เริ่มต้น 4 เขต หน่วยบริการเข้าร่วม 21 แห่ง ปี 2562 เพิ่มอีก 7 เขต หน่วยบริการเข้าร่วม 37 แห่ง และในปี 2563 จะเพิ่มเติมอีก 12 เขต
ส่วนการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัวในเขตบางกอกน้อย นอกจากศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอามแล้วยังมี รพ.วิชัยเวช และ รพ.ศิริราชเข้าร่วม ซึ่งคลินิกหมอครอบครัว งานบริการสุขภาพปฐมภูมิ ศิริราช เริ่มดำเนินการในปี 2561 ดูแลประชากร 10,087 คน ในพื้นที่ 7 ชุมชน โดยได้ดำเนินการตามตัวชี้วัด ทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนอกหน่วยบริการ แพทย์แผนไทยประยุกต์ การจัดทำโครงการชุมชนลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น โดยปัญหาและอุปสรรคที่พบ ได้แก่ การเคลื่อนย้ายประชากรทำให้ขาดความต่อเนื่อง ผู้ป่วยมีสิทธิการรักษาพยาบาลอื่น ประชาชนไม่อยู่บ้านหรือไม่ให้ความร่วมมือ เป็นต้น ทั้งนี้แต่ละเขตจะประสบปัญหาแตกต่างกัน โดยจะนำไปสู่การสนับสนุนและพัฒนาต่อไป
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันนี้คณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ ได้เยี่ยมการดำเนินงาน “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” เป็นโครงการที่ สปสช.ได้เริ่มขึ้นในปี 2562 นำร่องในพื้นที่ 11 เขต กทม. นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ร่วมสนับสนุนระบบปฐมภูมิ จากข้อมูลการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลกรณีที่ประชาชนเจ็บป่วยเล็กน้อย ร้อยละ 30 จะเลือกมาที่ร้านยา และเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การคัดกรองโรคและติดตามผู้ป่วย รวมถึงการส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ยาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังช่วยอุดช่องว่างในเรื่องเวลาเปิดบริการของหน่วยบริการและประชาชนที่ไม่สอดคล้องกัน โดยอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ กทม.
สำหรับร้านยาชุมชนอบอุ่นปิ่นเกล้า 2 เภสัช เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้กับประชาชน มีการจัดบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ จ่ายยาอย่างเหมาะสม ติดตามและส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย รวมถึงให้ความรู้สุขภาพกับประชาชน ซึ่งปัญหาที่พบ เช่น ประชาชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องยา ขาดความพร้อมของสื่อและอุปกรณ์ในร้าน และขาดการส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อนุกรรมการฯ จะได้ทำการรวบรวมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการต่อไป