กรมวิชาการเกษตรสบช่องราคามะพร้าวในประเทศวิกฤติหนัก โชว์ผลงานวิจัย “มะพร้าว 2 สายพันธุ์ใหม่” ที่ใช้เวลาทุ่มเทในการวิจัยกว่า30ปีจนเป็นผลสำเร็จเป็นรายแรกของโลก มุ่งแก้ปัญหามะพร้าวขาดแคลน-ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทย ให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีในอนาคต พร้อมผลิตต้นกล้าจำหน่ายให้เกษตรกรได้ปลายปี63
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อรองรับการขยายตัวของ ภาคอุตสาหกรรมมะพร้าวของประเทศและลดการนำเข้ามะพร้าวผลและผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยพืชสวนศึกษาวิจัยและพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์มะพร้าวเพื่อให้ได้มะพร้าวสายพันธุ์ดีให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจนเป็นผลสำเร็จ มีชื่อว่ามะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1 และ ลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2 สำหรับมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1ได้จากการผสมข้ามระหว่างลูกผสมเดี่ยวพันธุ์เรนเนลล์ต้นสูง x เวสท์อัฟริกันต้นสูง (แม่พันธุ์) กับพันธุ์ไทย ต้นสูง (พ่อพันธุ์) โดยแม่พันธุ์เรนเนลล์ต้นสูง x เวสท์อัฟริกันต้นสูง ได้จากการนำเข้าจากประเทศไอเวอรี่โคสท์ และ พ่อพันธุ์ไทยต้นสูง จากการคัดเลือกต้นในแปลงรวบรวมเชื้อพันธุกรรมด้วยวิธีการควบคุมการผสมพันธุ์แบบใกล้ชิด เมื่อปี พ.ศ. 2517 และทำการปลูกลูกผสมเดี่ยวพันธุ์เรนเนลล์ต้นสูง x เวสท์อัฟริกันต้นสูง เมื่อปี พ.ศ. 2518 ดูแล รักษาแปลงแม่พันธุ์ลูกผสมเดี่ยว ระหว่างปี พ.ศ. 2519-2531 และผสมพันธุ์เพื่อสร้างลูกผสม ปี พ.ศ. 2532-2533 ปลูกทดสอบลูกผสม ร่วมกับลูกผสมสายพันธุ์อื่นๆ จนได้สายพันธุ์ดีนาเสนอรับรองพันธุ์กรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562
ส่วนมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2ได้จากการผสมข้ามระหว่างลูกผสมเดี่ยวพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x เวสท์อัฟริกันต้นสูง (แม่พันธุ์) กับพันธุ์ ไทยต้นสูง (พ่อพันธุ์) โดยแม่พันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย X พันธุ์เวสท์อัฟริกันต้นสูง ได้จากการคัดเลือกต้นแม่พันธุ์ใน แปลงรวบรวมเชื้อพันธุกรรมภายในศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรกับพันธุ์ไทยต้นสูง (พ่อพันธุ์) จากการคัดเลือกต้นในแปลง รวบรวมเชื้อพันธุกรรมด้วยวิธีการควบคุมการผสมพันธุ์แบบใกล้ชิดเมื่อปี 2517 และทาการปลูกลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย X เวสท์อัฟริกันต้นสูง เมื่อปี2518 ดูแลรักษาแปลงแม่พันธุ์ลูกผสมเดี่ยวระหว่างปี 2519-2531 และผสมพันธุ์เพื่อสร้างลูกผสม เมื่อปี 2532-2533 ปลูกทดสอบลูกผสมร่วมกับลูกผสมสายพันธุ์อื่นๆจนปรับปรุงพันธุ์จนได้สายพันธุ์ดี และผ่านการรับรองตามขั้นตอนการรับรองพันธุ์พืช ประเภทพันธุ์รับรอง จากกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า ความสำเร็จในการวิจัยมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1 และ ลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2 ของกรมวิชาการเกษตรในครั้งนี้ นับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในการเพิ่มผลผลิตมะพร้าวของกรมวิชาการเกษตร ที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีในอนาคตซึ่งมีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบมีความเหมาะสมกับพื้นที่ปลูกของ ประเทศไทยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 – 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์ไทยต้นสูงสามารถเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร
ทั้งนี้ หลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเพื่อทดแทนสาหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆโดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 99.65 นำเข้าจากอินโดนีเซียซึ่งราคาถูกกว่าไทยและส่วนหนึ่งนำเข้าเพื่อผลิตเป็นกะทิกระป๋องส่งออกไปสหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ นอกนั้นส่งออกเป็นมะพร้าวฝอยไปตุรกี ส่งออกเป็นน้ำมะพร้าวไปประเทศเมียนมา ฮ่องกง เป็นต้น
สาหรับแหล่งผลิตมะพร้าวสำคัญๆของไทย ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 4.2 แสนไร่ ชุมพร 2.1 แสนไร่ สุราษฎร์ธานี 2.1 แสนไร่ ชลบุรี 6.4 หมื่นไร่ นครศรีธรรมราช 9.9 หมื่นไร่ และอื่นๆ 2.6 แสนไร่ รวมทั้งประเทศรวม 1.3 ล้านไร่ และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากการเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ามัน ยางพารา และ ไม้ผล และส่วนหนึ่งมีปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว โดยปัจจุบันสามารถแนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมด้วยวิธีการผสมสามทางไปสู่บริษัทเอกชนที่มีแปลงแม่พันธุ์ดังกล่าวแล้ว ในอนาคตสามารถกระจายพันธุ์ไปสู่เกษตรกรที่มีความต้องการพันธุ์มะพร้าวเพิ่มขึ้น สามารถขยายพื้นที่ไปยังแหล่งปลูกใหม่ที่มีศักยภาพ ผลผลิตมะพร้าวเพียงพอต่อความต้องการตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมมะพร้าว ตลอดจนช่วยรักษาเสถียรภาพของราคามะพร้าวสามารถลดการนำเข้ามะพร้าวผลและผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากต่างประเทศ” นางสาวเสริมสุข กล่าว
ด้านนายสมบัติ ตงเต๊า ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 (สวพ.2) กล่าวเพิ่มเติมถึงลักษณะเด่นของมะพร้าวลูกผสมสามทางชุมพร 1 และมะพร้าวลูกผสมสามทางชุมพร 2 ว่า มะพร้าวลูกผสมสามทาง ชุมพร 1 สามารถให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 102 ผลต่อต้นต่อปี หรือ 2,252 ผลต่อไร่ต่อปี ผลขนาดกลางถึงใหญ่โดยมี น้ำหนักเฉลี่ย 1,882 กรัมต่อผล น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้งสูงเฉลี่ย 337 กรัมต่อผลต่อปี หรือ 766 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ให้น้ำมันต่อเนื้อมะพร้าวแห้งเฉลี่ย 61 เปอร์เซ็นต์ และคิดเป็นผลผลิตน้ำมันเฉลี่ย 21 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี
ส่วนมะพร้าวลูกผสมสามทางชุมพร 2 ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 108 ผลต่อต้นต่อปี หรือ 2,372 ผลต่อไร่ต่อปี ผลขนาดกลาง โดยมีน้ำหนักเฉลี่ย 1,509 กรัมต่อผล น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้งสูงเฉลี่ย 250 กรัมต่อผลต่อปี หรือ 584 กิโลกรัมต่อไร่ ต่อปีและให้น้ำมันต่อเนื้อมะพร้าวแห้งเฉลี่ย 62 เปอร์เซ็นต์ และคิดเป็นผลผลิตน้ำมันเฉลี่ย 17 กิโลกรัมต่อต้น ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้วางแผนผลิตหน่อพันธุ์มะพร้าวลูกผสมสามทางชุมพร 1 และมะพร้าวลูกผสมสามทาง ชุมพร 2 โดยเฉพาะพันธุ์ลูกผสมสามทางชุมพร 2 สามารถผลิตต้นกล้าจำหน่ายให้เกษตรกรได้ปลายปี2563 และเกษตรกรสามารถนาผลงานวิจัยไปต่อยอดเชิงการค้ารองรับการขยายตัวและการเติบโตของอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทยแบบยั่งยืนในอนาคตต่อไปและผลการวิจัยดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จรายแรกของโลกโดยกรมวิชาการเกษตรใช้เวลาในการวิจัยยาวนานกว่า 30ปี
ทั้งนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าวถือว่าเปิดตัวได้ถูกจังหวะ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนมะพร้าวเพื่อบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมมะพร้าวมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากพื้นที่ปลูกมะพร้าวในประเทศไทยมีเพียง 1 ล้านไร่ ผลผลิตจึงไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนหนึ่งเพราะพื้นที่ปลูกมะพร้าวลดลง ในขณะที่ปริมาณการใช้มะพร้าวสูงขึ้น จึงมีการนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมากจนเข้ามาแข่งขันกับเกษตรกรในประเทศ จึงมีการเรียกร้องให้มีการส่งเสริมเกษตรกรปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีเพื่อลดการนำเข้า โดยการกำหนดโซนนิ่งเพื่อให้ผลผลิตออกมาเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ นอกจากนี้ควรส่งเสริมการแปรรูปเพื่อส่งออกกะทิ อาหารและขนมหวานไทยไปทั่วโลก เนื่องจากคุณภาพกะทิของประเทศไทยเป็นที่ 1 ของโลก ในขณะที่ผลผลิตมีมากเป็นอันดับ 7 ของโลก