สปสช.เขต 13 ชู 4 โครงการหลักส่งเสริมสุขภาพคนกรุง ตั้งคลินิกผู้สูงอายุครบวงจร คัดกรองสุขภาพแรงงานนอกระบบในผู้ขับขี่รถสาธารณะ ดึงร้านยาและคลินิกหมอฟันร่วมตรวจคัดกรองสุขภาพ หวังเพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและลดอัตราการการเจ็บป่วยของประชาชนใน กทม.ในระยะยาว
นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม. เปิดเผยว่า กทม.เป็นพื้นที่พิเศษและประชาชนเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้น้อย ดังนั้นในปีนี้ สปสช.เขต 13 จึงหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและจัดทำโครงการหลัก 4 โครงการที่จะช่วยทำให้คนที่อาศัยในพื้นที่ กทม. สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและป้องกันโรคได้มากขึ้น เป็นการสร้างนำซ่อมหรือดูแลสุขภาพก่อนเจ็บป่วย
ทั้งนี้ ทั้ง 4 โครงการมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย 1.โครงการคลินิกผู้สูงอายุครบวงจรในโรงพยาบาล เนื่องจากสังคมไทยปัจจุบันเป็นสังคมผู้สูงอายุและใน กทม.มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่จำนวนมาก ทาง สปสช.จึงร่วมมือกับสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดทำคลินิกผู้สูงอายุครบวงจร เป็นหน่วยบริการแบบ One Stop Service โดยเริ่มจากหน่วยบริการที่ร่วมโครงการกับระบบหลักประกันสุขภาพก่อน ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมให้บริการประมาณ 20 กว่าแห่ง และมีศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 30 แห่ง ผู้สูงอายุจะได้รับการดูแล เช่น การตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน ไขมัน การทำงานของไต การบกพร่องของสายตา ประเมินสุขภาพจิต ฯลฯ โดยรับบริการได้ทุกสิทธิฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
2.โครงการคัดกรองสุขภาพแรงงานนอกระบบในผู้ขับขี่รถสาธารณะ เนื่องจากผู้ขับขี่รถสาธารณะเป็นกลุ่มที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำตลอดเวลา ไม่มีเวลาไปพบแพทย์จึงอาจเกิดอันตรายกับสุขภาพได้ ทาง สปสช.จึงจัดบริการเป็นพิเศษ เช่น ให้หน่วยบริการไปตรวจคัดกรองตามสหกรณ์แท็กซี่หรือจุดให้บริการรถสาธารณะต่างๆ ได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยดูแลคนกลุ่มนี้ให้มีสุขภาพที่ดีแล้ว หากเจอโรคติดต่อ เช่น วัณโรค ก็จะได้ป้องกันรักษาแต่เนิ่นๆ ไม่เช่นนั้นก็อาจทำให้โรคแพร่กระจายไปสู่ผู้โดยสารได้ ทั้งนี้ผู้ที่เข้ารับบริการตรวจคัดกรองสามารถรับบริการได้ทุกสิทธิ แต่การออกตรวจคัดกรองจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาตามแผนงานหรือความสะดวกของหน่วยบริการ
3.โครงการร้านยาชุมชนอบอุ่น เป็นโครงการที่ทำให้ร้านยาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยบริการสาธารณสุข ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมาตรฐาน ขย.1 ได้มาตรฐาน GPP และต้องมีเภสัชกรประจำตลอดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยนอกจากจำหน่ายยาตามปกติแล้วยังดำเนินการในเรื่องคัดกรองโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน สอบประวัติการใช้ยา แนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง จ่ายยาคุมกำเนิดและการแนะนำเลิกบุหรี่ ตลอดจนทำงานร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขในการเยี่ยมบ้าน เบื้องต้นมีร้านยานำร่องจำนวน 26 ร้านในพื้นที่ 11 เขตที่มีคลินิกหมอครอบครัว (PCC) ใน กทม.ก่อนและจะขยายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ประชาชนที่สนใจรับบริการสามารถสังเกตได้จากป้ายร้านยาชุมชนอบอุ่นหรือสอบถามร้านได้โดยตรงว่าเข้าร่วมโครงการกับ สปสช.หรือไม่
4.โครงการหน่วยบริการร่วมให้บริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน เนื่องจากคน กทม. มีการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพช่องปากต่ำค่อนข้างมาก สปสช.จึงจัดงบประมาณส่วนหนึ่งเป็นกองทุนทันตกรรมและรับสมัครคลินิกทันตกรรมที่มีความพร้อมเป็นหน่วยร่วมบริการ ประชาชนก็สามารถไปรับบริการขูด อุด ถอน และตรวจสุขภาพช่องปาก โดยในส่วนของสิทธิบัตรทองจะใช้บริการขูด อุด ถอนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นบริการตรวจสุขภาพช่องปากสามารถรับบริการได้ทุกสิทธิ
"ทั้ง 4 โครงการนี้เริ่มดำเนินการหมดแล้ว ในส่วนของผู้สูงอายุ เราตั้งเป้าว่าจะสามารถตรวจคัดกรองในปีนี้ได้ประมาณ 1,400 ราย ขณะที่ร้านยาตั้งเป้าว่าจะมีร้านยาเข้าร่วมโครงการ 300-400 ใน 11 เขต และอัตราการเข้าถึงบริการทันตกรรมจะดีขึ้น" นพ.วีระพันธ์ กล่าว
นพ.วีระพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยทั่วไปแล้ว อัตราการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนใน กทม. จะต่ำเมื่อเทียบกับเขตอื่นๆทั่วประเทศ การดำเนินการทั้ง 4 โครงการนี้หวังว่าจะช่วยทำให้อัตราการการเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น และถ้าสามารถทำการคัดกรองผู้ป่วยและควบคุมกลุ่มเสี่ยงได้ ก็จะสามารถดูแลสุขภาพคน กทม.ได้ดีขึ้น สามารถป้องกันหรือลดอัตราการการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคไตหรือโรคหัวใจในระยะยาวได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องใช้เวลา 5-10 ปีแต่ถ้าปัจจุบันไม่ทำอะไรเลย คนก็จะป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ