สคร. สร้างความเข้าใจแนวทางปฏิบัติตามหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี ของรัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและเกิดความโปร่งใส เช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ในวันที่ 24 มิ.ย. 2562 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นประธานสัมมนาพร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัด กรรมการ ผู้บริหารสูงสุด และผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง เข้าร่วมการสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มีการปรับปรุงหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ปี 2552 โดยได้นำหลักการของการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) และธนาคารโลก (World bank) รวมทั้งหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ดีสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาประกอบในการพิจารณาจัดทำหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีของรัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ ซึ่งกระทรวงการคลังได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 โดยให้รัฐวิสาหกิจนำหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 มาใช้แทนหลักการและแนวทางการกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจที่ดีเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2552 รวมทั้งให้นำหลักการและแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้กับบริษัทย่อยของรัฐวิสาหกิจด้วย
ทั้งนี้ หลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย 9 หมวด ได้แก่ 1) บทบาทของภาครัฐ 2) สิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น 3) คณะกรรมการ 4) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 5) ความยั่งยืนและนวัตกรรม 6) การเปิดเผยข้อมูล 7) การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน 8) จรรยาบรรณ และ 9) การติดตามผลการดำเนินงาน
ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวสรุปว่า กระทรวงการคลังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 จะช่วยสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจต่อไป