กสิกรไทยและกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน หนุนงานวิจัยหาแนวทางสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ
กสิกรไทยและกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) สนับสนุนคณะนักวิจัยนำโดย Singapore Management University (SMU) ศึกษาการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการบริหารจัดการความยั่งยืนภายใต้กลไกการกำหนดราคาคาร์บอนในมุมมองของผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย ชี้มาตรการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อมของบริษัทเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจยอมปรับตัวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรรักษ์โลก ควบคู่กับการใช้มาตรการภาษีคาร์บอนซึ่งมีผลโดยตรงต่อต้นทุนธุรกิจ นอกจากนี้การสนับสนุนจากภาครัฐ สินเชื่อสีเขียว รวมถึงการสนับสนุนเรื่ององค์ความรู้ ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ผู้บริหารเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจไทยบนเวทีโลก
ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็น Global Agenda ที่ทั่วโลกเร่งแก้ไข ประเทศไทยก็มีเครื่องมือเชิงนโยบายที่ภาครัฐนำมาใช้ควบคุมบริหารจัดการปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change ที่คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2569 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการบังคับใช้กฎหมายนี้ อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงจำนวน 14 อุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่า 6.5 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของ GDP โดย พ.ร.บ. ในหมวดที่ 9 เกี่ยวกับระบบภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) จะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากเป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งหากมีการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้ตามแผนในปี 2569 ไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากสิงคโปร์ที่ประกาศใช้มาตรการนี้ในอาเซียน
ดังนั้นธนาคารจึงผลักดันให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านด้วยการสนับสนุนทุกมิติทั้งเงินทุน องค์ความรู้ และการให้บริการโซลูชันด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร นำมาสู่การสนับสนุนคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชีย เพื่อจัดทำงานวิจัยศึกษาการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการบริหารจัดการความยั่งยืนภายใต้กลไกการกำหนดราคาคาร์บอน ภายใต้ทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund: CMDF) ซึ่งธนาคารจะนำผลการวิจัยนี้มาต่อยอดเพื่อใช้วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และหาแนวทางเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้ธุรกิจไทยยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งบนเวทีโลก
นายจักรชัย บุญยะวัตร ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กล่าวเพิ่มเติมว่า CMDF มีนโยบายสนับสนุนงานวิจัยด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องผ่านสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (Capital Market Research Institute: CMRI) เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการทำวิจัย ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยและส่งเสริมการดำเนินการด้านต่างๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการพัฒนาตลาดทุนโดยรวม ได้แก่ โครงการทดลองเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุน ESG Bond โครงการพัฒนาคุณภาพข้อมูลความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนนำร่อง และโครงการให้ทุนสนับสนุนการเรียนหลักสูตรความยั่งยืนระดับสากลเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในตลาดทุน ปี 2564 – 2569 และล่าสุดได้สนับสนุนคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชียเพื่อศึกษาโครงการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการบริหารจัดการความยั่งยืนภายใต้กลไกการกำหนดราคาคาร์บอนในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงลึกและหาแนวทางที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้และดำเนินการในบริษัทหรือองค์กร เกี่ยวกับการวางแผนเชิงกลยุทธ์อย่างยั่งยืนภายใต้กลไกการกำหนดราคาคาร์บอนแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวจะเป็นแนวทางในการวางแผนกำหนดนโยบายและมีส่วนช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจไทยปรับเปลี่ยนเพื่อเดินหน้าสู่ Net Zero ตามเป้าหมายประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.จิรพล จิยะจันทน์ จาก Lee Kong Chian School of Business, Singapore Management University (SMU) เสริมว่า ปัจจุบันกว่า 70 ประเทศทั่วโลกเริ่มดำเนินการกำหนดราคาคาร์บอนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท สำหรับประเทศไทยก็มีร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาการกำหนดราคาคาร์บอน แต่พบว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนภายใต้ระบบการกำหนดราคาคาร์บอนและการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมยังมีจำกัด
คณะวิจัยประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ฮันตง ตัน จาก Nanyang Technological University ดร.ภัทรวรรณ ประสานพานิช จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.เอกภัทร มานิตขจรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารกสิกรไทย โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund: CMDF) จึงจัดทำวิจัยเชิงพฤติกรรมกับผู้บริหารระดับสูงจากธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศ 117 ราย โดยให้ผู้บริหารเลือกตัดสินใจลงทุนระหว่างโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่ขาดทุนระยะสั้นกับโครงการที่ทำกำไรแต่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้สถานการณ์จำลองระหว่างมีมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนและมาตรการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน
ผลการวิจัยพบว่าผู้บริหารส่วนใหญ่ตัดสินใจลงทุนในโครงการที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นหากมีการใช้มาตรการภาษีคาร์บอนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมองว่าเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปล่อยคาร์บอนที่จ่ายไปแล้วจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนทำโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีก ในทางกลับกันผู้บริหารจะตัดสินใจลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเมื่อต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสให้ธุรกิจและลดแรงกดดันทางสังคม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บริหารกลุ่มนี้มีการตระหนักรู้ถึงปัญหาและให้ความสําคัญกับการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการบังคับใช้มาตรการทั้งสองอย่างควบคู่ไปกับการสนับสนุนองค์ความรู้จะทำให้ภาคธุรกิจยอมปรับสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำมากขึ้น นอกจากนี้ผลวิจัยยังชี้ว่าผู้บริหารกว่า 60% ที่ตัดสินใจลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้องการแรงจูงใจเพิ่มเติมเพื่อลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น สินเชื่อสีเขียว หรือการสนับสนุนจากภาครัฐ
งานวิจัยในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของภาครัฐและเอกชนในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ การจัดเก็บภาษีคาร์บอนและการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นแนวทางผลักดันภาคธุรกิจให้ปรับตัวด้านความยั่งยืนได้จริง ผู้สนใจศึกษาผลการวิจัยใจฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ https://www.cmri.or.th/uploads/images/CMRI_Publication/1722504272Final%20Report_CMDF%200085-2566%20_Thai_V17.pdf