SCG ร่วมกับ SIIT นำร่องโครงการคอนกรีตคาร์บอนต่ำ สูตรต้นแบบไร้ซีเมนต์ อัปเลเวลความกรีนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50% มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อม
SCG ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้างและบำรุงรักษา (CONTEC) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัท ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) จํากัด และ บริษัท ฟูจิ โพลี่ (ประเทศไทย) จำกัด นำร่องโครงการทดสอบใช้งานคอนกรีตคาร์บอนต่ำ สูตรต้นแบบไร้ซีเมนต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50% ครั้งแรกในประเทศไทย ณ ไซต์งานถนนภายในโรงงานบริษัท ฟูจิ โพลี่ (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมนวนคร โดย CPAC ผู้นำด้านคอนกรีตผสมเสร็จคุณภาพสูง ใน SCG เพื่อก้าวสำคัญสู่เป้าหมาย Net Zero ในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย
นับเป็นความร่วมมือคิดค้นพัฒนานวัตกรรมคอนกรีตคาร์บอนต่ำสูตรต้นแบบ จากการนำวัสดุทดแทนปูนซีเมนต์ที่ทาง SCG พัฒนาขึ้นมาต่อยอดและประยุกต์ใช้ร่วมกับ By-Product นับเป็นองค์ความรู้และโครงการนำร่องทดสอบ เพื่อประยุกต์ใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์คอนกรีตต่างๆ ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง ทั้งงานโครงสร้างพื้นฐาน งานสาธารณูปโภค งานโครงการที่พักอาศัย งานก่อสร้างภาคอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตาม Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap
ศ.ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล
โดย ศ.ดร.สมนึก ตั้งเติมสิริกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้างและบำรุงรักษา (CONTEC) จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คอนกรีตสูตรใหม่ไร้ซีเมนต์นี้ ใช้วัตถุดิบจากกากอุตสาหกรรมแทนซีเมนต์ปกติ สามารถลดการปล่อย CO2 อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมคุณสมบัติด้านวิศวกรรมที่ทัดเทียมคอนกรีตทั่วไป นอกจากนี้สีของคอนกรีตยังมีความแปลกใหม่ เช่น สีน้ำตาลที่ช่วยเพิ่มมิติในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม
“การพัฒนาคอนกรีตสูตรต้นแบบไร้ซีเมนต์ มีจุดมุ่งหมายในการทำคอนกรีตให้มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ต่ำมากๆ ในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์หรือติดลบเลยก็ได้ การใช้วัตถุดิบประเภทที่ปล่อย CO2 ต่ำ โดยที่เราไม่ใช้ปูนซีเมนต์เลยและเป็นวัตถุดิบพวกกากอุตสาหกรรม ซึ่งเป็น Combination ที่ดี อัตราส่วนเหมาะสม ทำให้ได้มาซึ่งคอนกรีต ไร้ซีเมนต์ที่มีคุณสมบัติทางด้านวิศวกรรมเทียบเท่าการใช้คอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์ทั่วไป ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สำหรับสีของคอนกรีตจากเดิมที่เราเคยเห็นโครงสร้างสีเทาๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามีคอนกรีตที่มีสีแปลกจากสีคอนกรีตเดิมๆ น่าจะเป็นจุดที่น่าสนใจและเป็นจุดขายในอนาคตก็ได้นะครับ”
นายเฉลิมวุฒิ สงวนญาติ
ด้าน นายเฉลิมวุฒิ สงวนญาติ Concrete and Construction Technology Director จาก SCG กล่าวว่า “ทาง SCG ได้ตระหนักถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราเลยมีเป้าหมายที่สำคัญในการเดินหน้าสู่การเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์และคอนกรีตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ต้องบอกว่า ‘SCG’ ได้รับความร่วมมือจาก ‘สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ร่วมด้วยทาง ‘ไทยเซอิ’ ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมถึงต้องขอขอบคุณ ‘ฟูจิ โพลี่’ ที่ให้สถานที่ในการทดลองครั้งนี้ ต้องบอกว่าความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่าเป็นต้นแบบของการที่เราจะนำนวัตกรรมวัสดุทดแทนปูนซีเมนต์ที่มีความเป็นกรีนมาพัฒนาให้เป็น ‘คอนกรีตที่มีคาร์บอนต่ำ’ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศไทย ที่เราจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อในอุตสาหกรรมการก่อสร้างของไทยต่อไป และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเพิ่มประสบการณ์ของผู้ใช้งานได้เรียนรู้ถึงนวัตกรรมตัวใหม่ๆ และให้อุตสาหกรรมประเทศไทยสู่ความยั่งยืน”
นายนาโอฮิโตะ โอบะ
ส่วน นายนาโอฮิโตะ โอบะ Managing Director บริษัท ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทรับเหมาก่อสร้างสัญชาติญี่ปุ่น กล่าวว่า “ในสถานการณ์ปัจจุบัน เรามุ่งหวังที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ โดยคอนกรีตใหม่นี้เมื่อเทียบกับคอนกรีตเดิมมีการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลงถึง 50% ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นผลดีมากสำหรับสังคมไทย เรามุ่งไปที่อนาคตของประเทศไทยโดยคอนกรีตนี้จะเปลี่ยนวงการการก่อสร้างทั้งหมด คอนกรีตนี้เป็นคอนกรีตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก โดยมีสีน้ำตาลซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักออกแบบ ยังสามารถนำไปใช้กับหน่วยงานการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งยังมีข้อดีทั้งในด้านคุณภาพและสีสัน พวกเรากลุ่มบริษัทไทยเซอิพร้อมมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เราจะผลักดันและเผยแพร่คอนกรีตที่สร้างอนาคต เราได้ออกแบบส่วนผสมโดยการนำเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นเพื่อการร่วมมือในการพัฒนาคอนกรีต เราจึงเลือกกลุ่มบริษัท SCG เป็นผู้พัฒนา ในอนาคตเรามั่นใจว่าด้วยเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นและเทคโนโลยีจากกลุ่มบริษัท SCG จะทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์คอนกรีตเป็นไปในทางที่ดีและพร้อมมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เรามั่นใจในเทคโนโลยีของเรา”
นายฮิโรฮิโกะ มินาเอะ
ในขณะที่ นายฮิโรฮิโกะ มินาเอะ President บริษัท ฟูจิ โพลี่ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของโครงการก่อสร้าง กล่าวว่า “ก่อนอื่นอยากจะขอบคุณทาง TAISEI ที่ได้ชวนให้เข้าร่วมในโครงการนี้ ทั้งนี้หนึ่งในเป้าหมายบริษัท ของเราก็มีแผนที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งตามเป้าหมายนี้ ทางเราก็ได้เริ่มคิดเกี่ยวกับว่าจะทำอย่างไรถึงจะสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ แต่เราก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราสามารถดำเนินการเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้นั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ถ้าโครงการนี้สำเร็จ ผมเชื่อว่าจะเป็นการขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมในกิจกรรมลดคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสังคมได้ตามที่กล่าวมา ผมก็คาดหวังในโครงการนี้เป็นอย่างมาก อยากให้ช่วยดำเนินการโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จและคาดหวังให้โครงการนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในวงกว้างได้”
โครงการนี้เป็นก้าวสำคัญในการสร้างวัสดุคอนกรีตที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้งานในหลากหลายโครงสร้าง เช่น งานสาธารณูปโภค โครงการที่พักอาศัยและอุตสาหกรรม โดย SCG ตั้งเป้าให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางวัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำระดับภูมิภาค ซึ่งนวัตกรรมนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคต และเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้สามารถปรับตัวสู่ยุคของความยั่งยืนอย่างแท้จริง