วิษณุ เครืองาม” ปาฐกถาพิเศษในงานมอบรางวัล เชิดชูเกียรติ 19 พ่อดีเด่นแห่งชาติ ประจำ 2567
สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ ร่วมกับ มูลนิธิทองเนื้อเก้า จัดงานมอบรางวัล “พ่อดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมเชิดชูเกียรติพ่อดีเด่นที่เป็นต้นแบบให้กับสังคม อาทิ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี, รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี, พลเอกวิโรจน์ แสงสนิท อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ นายโชติ โสภณพนิช ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย เป็นต้น
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ร่วมกับ มูลนิธิทองเนื้อเก้า จัดงาน “น้อมรำลึกพ่อหลวงไทย ร่วมใจเชิดชูวัฒนธรรม” พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติพ่อดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2567 ณ อาคารราชนาวิกสภา กองทัพเรือ โดยมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิทองเนื้อเก้า ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานฯ พร้อมมอบรางวัลเชิดชูเกียรติพ่อดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 รวม 19 รางวัล ทั้งนี้ ภายในงานได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์เพื่อน้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และพ่อดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ได้แสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สนองพระราชปณิธาน ตามรอยบาทนิรันดร์” กล่าวว่า การจัดงานยกย่อง “พ่อดีเด่นแห่งชาติ” มีการจัดกิจกรรมในหลายองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ที่ช่วยในการตามหาพ่อดีเด่นในสังคมในสาขาอาชีพต่าง ๆ ซึ่งทุกท่านถือเป็นผู้มีอุปการะคุณต่อประเทศชาติ ที่ได้อบรมสั่งสอนบุตรหลานให้เจริญเติบโตเป็นคนดีในสังคม ทั้งตนเองก็ยังเป็นแบบอย่างพ่อที่ดีในสังคมได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี นอกจากเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หรือ “วันพ่อแห่งชาติ” แล้วยังเป็น “วันชาติ” ของประเทศไทยด้วย เพราะเราได้แบบอย่างมาจากผู้ที่เป็นพ่อแห่งชาติโดยแท้ ตัวอย่างที่เห็นได้คือ พระราชกรณียกิจที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้หลายประการ โดยพระองค์ได้ตรัสว่า การที่คนเราจะทำอะไรได้นั้นมีอยู่ 2 ประการ คือ กระทำโดยไม่ต้องคิด เป็นการลงมือทำทันที และกระทำโดยตั้งใจด้วยความปรารถนา มีการเตรียมการไว้ก่อน ซึ่งคำนิยามตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า ปณิธาน คือการกระทำด้วยความตั้งใจ
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราชปณิธานที่จะทำงานต่าง ๆ โดยทรงตั้งพระราชหฤทัยเอาไว้ กระทั่งทรงรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แล้วจะต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่รถพระที่นั่งเสด็จผ่านท้องสนามหลวง ในที่สุดมีชายคนหนึ่งออกมาขวางรถพระที่นั่ง พร้อมตะโกนว่า ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ว่า เราอยากจะตอบเขาไปเหลือเกินว่า ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร นับเป็นพระบรมราชปณิธานอย่างเป็นทางการที่สุด ที่ทรงพระราชนิพนธ์เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ทรงทิ้งประชาชน” ศ.ดร.วิษณุ กล่าว
ศ.ดร.วิษณุ กล่าวต่อว่า หลังจากที่มีพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนทั้งสิ้น ด้วยการพัฒนาประเทศให้อยู่รอด ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความรักสามัคคี และอยู่ในประเทศอย่างผาสุก นับกว่า 4,000 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาที่ดินทำกินเพื่อประชาชน หรือทรงแบ่งที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อโครงการปฏิรูปที่ดินกว่าแสนไร่ ไปจนถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ทำมาหากิน พร้อมหาแหล่งจำหน่ายสินค้าชุมชนให้ประชาชน เป็นที่มาของโครงการหลวงโกลเด้น เพลซ (Golden Place) ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นพระราชปณิธานของพระองค์ ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อให้ประชาชนในประเทศอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
"ผมขอแสดงความยินดีกับพ่อดีเด่นทุกท่าน และขอให้ทุกท่านช่วยกันสืบสานพระราชปณิธาน สร้างความสามัคคีในสังคม ช่วยกันทำงานให้ประชาชนในประเทศชาติอยู่ดีกินดี เราเป็นพสกนิกรตัวน้อย ๆ ก็มีส่วนโดยเสด็จพระราชกุศล ที่จะสร้างประโยชน์ด้วยการสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันด้วยโดยทั่วกัน” ศ.ดร.วิษณุ กล่าวในที่สุด
ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม
ขณะที่ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) บุตรชายของ รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลพ่อดีเด่นประจำปี 2567 กล่าวว่า ตนขอขอบพระคุณคณะกรรมการจัดงานฯ ที่ได้คัดเลือกให้คุณพ่อ เป็นหนึ่งในพ่อดีเด่น ประจำปี 2567 นี้ รวมถึงพ่อดีเด่นที่ได้รับรางวัลทุกท่านล้วนแล้วแต่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม พ่อเป็นแบบอย่างให้ตนตั้งแต่เด็ก ด้วยการสร้างครอบครัวที่มีความรักใคร่สนิทกัน โดยมีสิ่งหนึ่งที่ตนได้เรียนรู้คือ พ่อจะอยู่กับตนทุกครั้งที่มีปัญหา คอยสนับสนุนทั้งทางด้านจิตใจ ทั้งให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาและดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การทำงาน ทำให้ตนมีพ่อเป็นแบบอย่างในการทำงาน และการประพฤติตัว โดยเฉพาะความซื่อสัตย์สุจริต ความรักแผ่นดินบ้านเกิด ความจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้น พ่อยังเป็นที่พึ่งทางใจให้กับตน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงใดของชีวิต จะสุขหรือจะทุกข์ พ่อก็จะคอยชี้นำทางที่ถูกต้องให้เสมอมา ซึ่งตนก็ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ พร้อมแบ่งปันสิ่งดี ๆ นี้ให้กับผู้อื่นและสังคม
ด้าน พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด บุตรชายของ พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ตนมีความภาคภูมิใจในรางวัลเชิดชูเกียรติพ่อดีเด่น ที่คุณพ่อได้รับเป็นอย่างมาก ซึ่งโดยปกติแล้วท่านเป็นคนไม่ค่อยพูด การที่ได้รับคัดเลือกเป็นพ่อดีเด่นจากคณะกรรมการทุกท่าน พร้อมรับรางวัลเชิดชูเกียรติ ถือเป็นรางวัลที่มีคุณค่าอย่างมาก ด้วยอาชีพทหาร ที่มักจะพูดอธิบายน้อย แต่ท่านก็จะกระทำให้เป็นแบบอย่างที่ดีโดยเฉพาะเรื่องความรับผิดชอบต่อคำพูด คำไหนต้องเป็นคำนั้น เมื่อรับปากใครแล้วก็ต้องลงมือทำอย่างตั้งใจ อย่างถึงที่สุด ทำให้ตระหนักเสมอว่าก่อนที่จะรับปากใครไปก็ต้องมั่นใจก่อนว่า เราสามารถที่จะส่งมอบสัญญาให้เขาได้ ต่อมาจะเป็นเรื่องของวินัย ที่รวมถึงวินัยการดูแลสุขภาพตนเอง และอีกเรื่องที่ตนได้เรียนรู้มาใช้ในชีวิตคือ การมีกัลยาณมิตรที่ดี แม้ว่าคุณพ่อจะอยู่ในช่วงวัยเกษียณก็ยังมีเพื่อนพ้อง มาช่วยสร้างความสุข ความสดชื่นในชีวิต ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวอีกด้วย
รายชื่อผู้ที่ได้เข้ารับรางวัลเชิดชูเกียรติพ่อดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 รวม 19 รางวัล ได้แก่
1.พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี
2.รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี
3.นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา กรรมการกฤษฎีกา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4.พลเอกวิโรจน์ แสงสนิท อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด
5.พลเรือโท วีรุดม ม่วงจีน รองเสนาธิการทหารเรือ
6.พลอากาศโท จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
7.ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม
8.ดร.สุเมธ แย้มนุ่ม อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
9.พลตำรวจเอก ปรีชา เจริญสหายานนท์ อดีตที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
10.นายโชติ โสภณพนิช ประธานกรรมการบริษัท กรีนสปอต จำกัด และประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย
11.นายวิชัย กุลสมภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
12.ดร.ศิริธัช โรจนพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอม-ลิงค์ จำกัด
13.นายพิชิต มิทราวงศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
14.นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
15.นายนท นิ่มสมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนียนแอ็สโซซิเอทส์ (ไทย) จำกัด
16.นายนิรุฒ มณีพันธ อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
17.นายนรินทร์ สิรการัณย์ ประธานบริษัท ที-วัน สตีล โซลูชั่น จำกัด
18.นายธิวรรธน์ วิไลดารกา รองประธานมูลนิธิเพื่อสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
19.ดร.วัลลภ สุวรรณดี อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2567
(ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์)
ประธานคณะกรรมการจัดงานฯ