SCBX เผยกลยุทธ์เสริมความแข็งแกร่งองค์กรด้วย AI พร้อมชู 5 กล้ามเนื้อหลักขับเคลื่อนธุรกิจ
ในขณะที่ AI กำลังเป็นกระแสร้อนแรงที่เข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วนของธุรกิจทั่วโลก ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เปิดเผยว่าแม้ผลสำรวจจะชี้ว่าเกือบ 90% ของ CEO ทั่วโลกเชื่อว่า AI จะมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีเพียง 9% เท่านั้นที่สามารถประยุกต์ใช้ AI ได้ตามเป้าหมายและทั่วทั้งองค์กร สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการนำ AI มาใช้งานจริง
“วิสัยทัศน์ที่ปราศจากการลงมือทำจะเป็นเพียงความฝัน การจะทำให้ AI ซึ่งเปรียบเสมือนสมองสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง องค์กรจำเป็นต้องมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงรองรับ” ดร.อารักษ์ กล่าว พร้อมเผยถึงแนวทางที่เรียกว่า “Building Corporate AI Muscles” หรือ “การสร้างกล้ามเนื้อองค์กรเพื่อรองรับ AI” ซึ่งกลุ่ม SCBX ได้เรียนรู้และสามารถช่วยขับเคลื่อนองค์กรด้วย AI ใน 5 มิติสำคัญ ได้แก่
1. People Muscle: การสร้างความเข้าใจในทุกระดับ
SCBX ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรทั้ง 3 ระดับ เริ่มจากคณะกรรมการที่จะได้รับการอัปเดตความรู้ด้านเทคโนโลยีผ่านการดูงานต่างประเทศ เพื่อศึกษาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศ ขณะที่ระดับผู้บริหารมีการผลักดันนโยบาย AI-first Organization อย่างเข้มข้น
สำหรับพนักงานทั่วทั้งกลุ่ม SCBX กว่า 30,000 คน ได้ริเริ่ม AI Literacy Program ที่ครอบคลุมตั้งแต่การใช้งานพื้นฐานอย่าง ChatGPT ไปจนถึงการพัฒนาโมเดล AI “เป้าหมายของเราคือการทำให้พนักงานทุกคนเข้าใจว่า AI คืออะไร ใช้อย่างไร และไม่ควรใช้ในกรณีใด เพราะความสำเร็จของ AI ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่อยู่ที่คนที่จะใช้งานมันด้วย” ดร.อารักษ์ อธิบาย
2. Data Muscle: การจัดการข้อมูลที่มีคุณภาพอย่างเป็นระบบ
“ในโลกของ AI ข้อมูล คือ จุดแข็งที่แท้จริงขององค์กร เพราะแม้ใครๆ ก็เข้าถึง ChatGPT หรือ Gemini ได้ แต่โมเดลเหล่านี้ไม่มีข้อมูลภายในของบริษัทเรา” ดร.อารักษ์ กล่าว พร้อมเผยว่า SCBX ได้จัดตั้งบริษัท เอสซีบี เดต้า เอกซ์ (DataX) ขึ้นมาเพื่อรวบรวมและจัดการข้อมูลจากทุกบริษัทในเครือ ภายใต้กรอบกฎหมาย PDPA โดยมุ่งเน้นแนวทาง data-centric แทนที่จะเป็น model-centric เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“เราไม่จำเป็นต้องสร้างโมเดลให้เก่งกว่า ChatGPT แต่เราต้องทำข้อมูลของเราให้พร้อมที่สุดเพื่อใช้กับโมเดลที่มีอยู่” ดร.อารักษ์ อธิบายถึงแนวคิดการจัดการข้อมูลของกลุ่ม SCBX
3. Capability Muscle: การพัฒนาขีดความสามารถในการประยุกต์ใช้ AI
ตัวอย่างความสำเร็จที่โดดเด่นของกลุ่ม SCBX คือ การพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่ "Typhoon" โดย SCB 10X ซึ่งเป็นบริษัทลูก ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินตามเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct) “จากเดิมที่ต้องใช้การสุ่มตรวจ เราสามารถใช้ AI มาช่วยตรวจสอบความถูกต้องของการนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้แม่นยำถึง 92% ของธุรกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำให้ทั้งลูกค้า พนักงาน และหน่วยงานกำกับดูแลมั่นใจได้ว่าการนำเสนอผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานและถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนด” ดร.อารักษ์ กล่าว
4. Empowerment Muscle: การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง
SCBX สร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานได้แสดงศักยภาพผ่านกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี และเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการจัดการแข่งขัน SCBX AI Battle ที่เปิดโอกาสให้พนักงานนำเสนอไอเดียการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยทีมชนะเลิศได้ไปศึกษาดูงานที่ Singapore Fintech Festival “เราต้องสร้างวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้พนักงานกล้าทดลอง กล้าเสี่ยงภายใต้กรอบที่เหมาะสม นวัตกรรมถึงจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญมากในการรองรับนวัตกรรม” ดร.อารักษ์ เน้นย้ำ
5. Enablement Muscle: สร้างแรงขับเคลื่อนแห่งการเปลี่ยนแปลง
เพื่อขับเคลื่อนประสานและผลักดันการใช้ AI ทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ SCBX จึงจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้น “การมีศูนย์กลางช่วยให้เราแชร์ไอเดีย ลดความซ้ำซ้อน และสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.อารักษ์ กล่าวเพิ่มเติม
"AI เปรียบเสมือนสมองขององค์กร แต่การที่จะทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงรองรับ และแม้ AI จะเป็นเรื่องใหม่ แต่ถ้าเราไม่เริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เราอาจพลาดโอกาสในการนำนวัตกรรมมาสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจและชีวิตประจำวัน" ดร.อารักษ์ กล่าว พร้อมย้ำว่า SCBX มุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาทั้ง 5 กล้ามเนื้อนี้อย่างต่อเนื่องในปีหน้า เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันขององค์กรและภาพรวมของประเทศต่อไป