เครือซีพี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คว้ารางวัลบทความวิจัยยอดเยี่ยมด้านสิ่งแวดล้อม หนุนโครงการ “ป่าปลอดเผา” สร้างชุมชนต้นแบบป้องกันไฟป่า แนวเขตชายแดนไทย-เมียนมา
เมื่อเร็วๆนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดย ดร.แสนวสันต์ ยอดคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับรางวัลบทความวิจัยยอดเยี่ยมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความเป็นเลิศสำหรับชุมชน เรื่อง “การลดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกองจากเศษใบไม้ในป่าชุมชนพื้นที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่” ภายใต้โครงการ “ป่าปลอดเผา” โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในงานประชุมสัมมนาวิชาการรูปแบบพลังงานทดแทนเพื่อชุมชนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17 (TREC-17) ภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่เหมาะสมสำหรับการขยายผลสู่ชุมชนอัจฉริยะ” โดยมีเป้าหมาย เป็นแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนอย่างถูกวิธี ลดการเผาป่า ที่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม จ.เชียงใหม่
นางสาวพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ เล็งเห็นปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี จึงได้เข้าไปดำเนินงานด้านความยั่งยืนตั้งแต่ปี 2558 หลายพื้นที่ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.น่าน จ.พะเยา และ จ.ลำปาง ล่าสุดได้เข้าไปดำเนินโครงการ “ป่าปลอดเผา” (Zero Forest Burning) ใน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีจุดความร้อน (Hotspot) สูง และอยู่ติดกับชายแดนไทย - เมียนมา โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชน มุ่งช่วยกันลดเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ก่อให้เกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าชุมชน อันเป็นสาเหตุการเกิดหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ สนับสนุนให้ชุมชนเก็บใบไม้แห้งออกจากพื้นที่ป่าชุมชน 6 แห่ง นำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์สร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนการจัดทำงานวิจัย เพื่อศึกษาผลของโครงการฯ ให้สามารถเป็นแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนอย่างถูกวิธี ลดการเผาป่า เพื่อลดปริมาณชีวมวลในพื้นที่ป่าและลดการเผา และประเมินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ชุมชนมีส่วนร่วมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality)
ดร.แสนวสันต์ ยอดคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า การจัดทำวิจัยเรื่อง “การลดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกองจากเศษใบไม้ในป่าชุมชนพื้นที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่” ภายใต้โครงการ “ป่าปลอดเผา” ที่ดำเนินงานโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นการศึกษาผลจากการจัดเก็บใบไม้แห้งมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์โดยใช้วิธีการหมักแบบไม่พลิกกลับกอง เพื่อประเมินความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกของโครงการ โดยใช้วิธีการคำนวณตามวิธีที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้กำหนดแนวทางไว้ จากงานวิจัยพบว่า ใบไม้ที่ชุมชนบ้านเวียงแหงเก็บได้ จำนวน 74,925 กิโลกรัม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 62.71 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เมื่อเทียบกับการฝังกลบ คิดเป็น 0.84 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อเศษใบไม้ 1 ตัน และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 102.97 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ทางด้าน นางเฉลิมชัย โปธา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านป่าไผ่ หมู่ 3 ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า หมู่บ้านดูแลป่าชุมชนกว่า 400 ไร่ และมีใบไม้สะสมจำนวนมาก เกิดปัญหาเรื่องไฟป่าอยู่ตลอด ยิ่งมีใบไม้มาก ไฟป่าก็ยิ่งรุนแรงมาก ก่อนหน้านี้ไม่รู้จะนำใบไม้แห้งไปใช้ประโยชน์อะไร พอมีโครงการ “ป่าปลอดเผา” ทำให้คนในชุมชนให้ความสนใจและมีส่วนร่วมเก็บใบไม้ ลดเชื้อเพลิงได้ แล้วการนำใบไม้ไปทำเป็นปุ๋ย เพราะหมู่บ้านกำลังจะทำกลุ่มเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว ต้องทำเป็นวงจรแบบนี้ถึงจะไปได้
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวฯ ได้รับรางวัลบทความยอดเยี่ยมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความเป็นเลิศสำหรับชุมชน ซึ่งยกย่องผลงานที่มีความโดดเด่นในการนำไปใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน และถือเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่เป็นทางเลือกใหม่ของการจัดการใบไม้แห้งที่เป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดไฟป่าและช่วยลดการเผาป่าจากการหาของป่า พร้อมทั้งยังสามารถลดต้นทุน โดยนำปุ๋ยหมักที่ได้ไปเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในชุมชนอีกด้วย ตอบโจทย์ความยั่งยืนให้กับชุมชนได้