จากการที่โลกกำลังถูกคุกคามด้วยดิจิทัลและ AI ในปัจจุบัน นอกจากผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้ว ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายบริบท เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลต้นแบบของการพัฒนาคน เชื่อว่าการเรียนรู้ที่จะปรับตัวหรือพัฒนาตนเอง เป็นทางเลือกเดียวที่จะทำให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์ที่ผันผวนนี้ ซึ่งปัจจุบันการเรียนรู้มีอยู่มากกว่าแค่ในห้องเรียน เป็น Lifelong Learning หรือ “การเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ” สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกยุค ทุกสมัย
มูลนิธิเอสซีจี ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่อยากเห็นทุกคนมี mindset เหล่านี้ จึงสนับสนุนทุนการศึกษาครอบคลุมทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งการขยายแนวคิด “LEARN to EARN” เรียนรู้เพื่ออยู่รอด เน้นการเรียนรู้เพื่อมี งานทำ พัฒนาทั้งทักษะวิชาชีพ (Hard skills) และทักษะชีวิต (Soft skills) เพราะเชื่อว่าทุกคนมีคุณค่าและ ศักยภาพในตัวเอง สามารถเผชิญโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยใช้การเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีความสุขและยั่งยืน
ดีมานด์ซัพพลายที่ไม่ลงตัว โลกการทำงานที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แม้ว่าสถาบันการศึกษาจะพยายามออกแบบหลักสูตรการเรียนที่คาดว่าจะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน แต่คุณภาพของผู้ที่จบการศึกษามานั้น กลับยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้ต้องไปทำงานในตำแหน่งงานที่ต่ำกว่าวุฒิที่จบมา หรือทำงานไม่ตรงสาขาที่เรียนจบมา และที่ร้ายแรงที่สุดคือไม่สามารถหางานทำได้ เกิดเป็นปัญหาการว่างงานในที่สุด ซึ่งปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง
มูลนิธิเอสซีจีจึงร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (Thailand Development Research Institute : TDRI) ได้จัดทำแนวโน้มความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และทักษะอาชีพที่แรงงานไทยควรต้องมี พบว่าแรงงานไทยมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่โครงสร้างอาชีพแรงงานไทยกลับไม่ได้ยกระดับขึ้นตามระดับการศึกษา โดยมีสาเหตุมาจาก
1. ประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะความรู้และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
2. ระบบการศึกษาของไทย ประสบความสำเร็จในด้านปริมาณ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเชิงคุณภาพ วุฒิการศึกษาที่ได้รับไม่ได้สะท้อนถึงทักษะความรู้ที่ผู้เรียนมี
3. เกิดความไม่เข้ากันระหว่างความต้องการแรงงานในตลาด กับระบบการศึกษาที่ผลิตแรงงาน ทั้งการไม่เข้ากันในแนวตั้ง (Vertical Mismatch) คือแรงงานมีวุฒิการศึกษาสูงหรือต่ำกว่าที่ตลาดแรงงานต้องการ และไม่เข้ากันในแนวนอน (Horizontal Mismatch) คือแรงงานมีวุฒิตรงกับที่ตลาดแรงงานต้องการแต่ไม่ได้จบมาในสาขาหรือมีทักษะตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการ ความไม่สอดคล้องกันของความต้องการแรงงานในตลาดกับระบบการศึกษาที่ผลิตแรงงานนี้ (Mismatch) ถือเป็นปัญหาใหญ่และค่อนข้างรุนแรง ใน 2 ประเด็นดังนี้
- แรงงานมีวุฒิการศึกษาสูง-ต่ำ กว่าที่ตลาดแรงงานต้องการ
- แรงงานมีวุฒิการศึกษาตรง แต่กลับจบไม่ตรงสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ
โดยเฉพาะในระดับอาชีวศึกษาที่มุ่งเน้นผลิตแรงงานเพื่อป้อนตลาด แต่กลับพบว่าผู้จบระดับ ปวช. อายุ 21-40 ปี ได้งานทำที่ไม่ตรงสายที่เรียนมาเกือบ 90% ผู้จบ ปวส. อายุ 21-30 ปี ทำงานไม่ตรงสาย 84%
ประเภทอุตสาหกรรมกับความต้องการแรงงาน
ข้อมูลจากการสำรวจตลาดแรงงานไทย โดยทีดีอาร์ไอ ในปี 2024 พบว่า ตลาดแรงงานไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในส่วนโครงสร้างการจ้างงาน และ ทักษะของตลาดแรงงานไทยที่ยังคงมีลักษณะเป็นแรงงานทักษะต่ำ
หากจัดกลุ่มการลงทุนตามประเภทกิจกรรมหมวดใหญ่ ตามข้อมูลการอนุมัติบัตรส่งเสริมการลงทุน ระหว่างปี พ.ศ. 2561 ถึงปี พ.ศ. 2566 จะพบว่า ในแง่เงินลงทุน อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีมีการลงทุนมากที่สุด คือมากถึง446,948 ล้านบาท ตามมาด้วยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมสาธารณูปโภค ตามลำดับ
แต่หากพิจารณาตามจำนวนการจ้างงานแล้ว พบว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีการจ้างงานมากที่สุด ตามมาด้วยอุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ และอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ตามลำดับ
ยุคเรียนรู้เพื่ออยู่รอดแบบ Learn to Earn
นอกจากการเรียนรู้ที่จะช่วยพัฒนาทักษะให้อยู่รอดได้แล้วนั้น ศักยภาพของทักษะที่มีในแต่ละคนก็เป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่องค์กรต่างๆ ใช้เป็นตัวพิจารณาหลักในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน ดังนั้น การมีทั้ง Hard Skills และ Soft Skills จะทำให้บุคคลนั้นมีความสามารถในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทักษะวิชาชีพ หรือ Hard Skills เป็นทักษะที่มีระยะเวลาการใช้งาน ความรู้ความสามารถที่มีอยู่นั้นอาจจะไม่สามารถนำมาใช้งานได้เมื่อเวลาผ่านไป เพราะเป็นความรู้ที่เก่า ไม่ทันสมัย ทำให้ต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทักษะวิชาชีพนี้มีรูปแบบตายตัว สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ในขณะที่ทักษะชีวิต หรือ Soft Skills เป็นทักษะที่ใช้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จะมีประโยชน์ในการปรับตัวให้อยู่รอดได้ในปัจจุบัน รวมถึงการนำไปใช้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทักษะชีวิตนี้เป็นทักษะที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต
นอกจากนี้มูลนิธิเอสซีจี ได้ร่วมกับบริษัท ฟาร์อีสท์ เฟมไลน์ ดีดีบี จำกัด (มหาชน) ทำการสำรวจเพิ่มเติมในกลุ่ม Newgen (GEN Y & Z) ช่วงอายุ 15-34 ปี กว่า 500 คน และกลุ่ม Opinion Leader พบว่าทักษะที่ส่วนใหญ่มองว่า เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็น เป็นทักษะ Soft Skills โดยมี Skill set ที่สำคัญดังนี้
- ทักษะด้านการสื่อสารและภาษา (Communication & Language Skills) ได้แก่ทักษะด้าน Conciseness, active listening, assertiveness, verbal communication, non-verbal communication, story telling และ adaptability
- ทักษะด้านการทำงานร่วมกัน (Collaboration Skills) ได้แก่ทักษะด้าน Active listening, feedback, inclusivity, verbal communication และ written communication
- ทักษะด้านการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking Skills) ได้แก่ทักษะด้าน Problem solving, creative writing, open-mindedness, analysis และ active listening
ทิศทางการเรียนรู้ในอนาคตควรเป็นแบบไหน
จากวงเสวนา Opinion Panel ที่มูลนิธิเอสซีจีจัดขึ้น โดยมีกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงาน องค์กร ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน กว่า 20 คน ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า ระบบการศึกษาควรปรับตัวเป็นการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ และต้องสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ หรือ Hard Skills และทักษะชีวิต หรือ Soft Skills โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นทั้งเยาวชนในระบบ นอกระบบ รวมไปถึงผู้ที่ก้าวพลาด เพื่อให้ทุกคนอยู่รอดในสังคมต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการเรียนรู้เพื่ออยู่รอดจะดำเนินการด้วย 2 หลักการสำคัญคือ ความยั่งยืนและยืดหยุ่น ยั่งยืนคือเรียนรู้แล้วเอาตัวรอดได้ และยืดหยุ่นคือปรับตัวไปตามสถานการณ์
สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาส ควรทำหน้าที่ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ด้วยการกระตุ้นให้รู้จักตัวตนให้เร็วที่สุด เน้นให้เรียนรู้ในสิ่งที่อยากเรียนและมีความสุขในการเรียน และควรจัดทำระบบการเทียบโอนหรือ Credit Bank ให้เกิดเป็นรูปธรรมไปในเวลาเดียวกัน เพราะต่อไปเมื่อตลาดแรงงานไม่ได้ต้องการคนจบวุฒิการศึกษาสูง จึงไม่มีความจำเป็นต้องเสียเวลาเรียนหลายปีเพื่อให้ได้ปริญญา คนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนมาเรียนหลักสูตรระยะสั้น เพื่อให้มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และกลับมาพัฒนาทักษะความรู้ Upskills-Reskills เมื่อมีโอกาส พร้อมทั้งเก็บสะสมเครดิตการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้คำนวณอัตราค่าจ้างต่อไป เพราะคนที่เรียนมาน้อยแต่ประสบการณ์สูง ควรได้ค่าตอบแทนเทียบเท่าหรือมากกว่าคนที่เรียนจบมาสูงแต่ไม่มีประสบการณ์
นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่ากลุ่ม Gen Z ถึง 50% ไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบอาชีพ / ศึกษาสาขาใด และมากกว่า 37% ที่ยังขาดคนให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำในการศึกษาต่อ การไม่รู้จักตัวตนของคนรุ่นใหม่ ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองถนัดอะไร ชอบอะไร รักที่จะทำอะไร ทำให้ไม่สามารถวางแผนชีวิตในอนาคตได้
สถาบันครอบครัวควรส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนค้นหาตัวตนให้พบ เพื่อจะดึงความชอบมาพัฒนาและเพิ่มทักษะให้พร้อมเรียนรู้เป็นอาชีพต่อไป โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ในกลุ่ม Medium Skill และ Low Skill ที่จะขาดคนให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ซึ่งหากจัดการทั้งระบบ เด็กและเยาวชน-รู้จักตัวตนได้เร็ว เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นตัวเอง พัฒนาทักษะสม่ำเสมอ เพื่อให้อยู่รอด มีอาชีพ มีงานทำ อยู่อย่างมีความสุข และเป็นการรอดแบบมีสัมมาชีพ มีคุณธรรมและจริยธรรม
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org เฟซบุ๊ก LEARNtoEARN และ TIKTOK: LEARNtoEARN