กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทเดือนที่ผ่านมาอ่อนค่าเร็วจากการที่ตลาดปรับมุมมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยช้าลง ทำให้ US Treasury yields ปรับสูงขึ้นพร้อมดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง ตลาดมองว่าโอกาสที่ทรัมป์จะชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีมีสูงขึ้น จึงมีการ Price-in ทำให้ Yields ขึ้นต่อ ดอลลาร์แข็งค่า กดดันให้บาทอ่อนค่าเร็ว สำหรับในระยะต่อไปมองว่า ตลาดได้ Price-in การลดดอกเบี้ยของ Fed ค่อนข้างเหมาะสมแล้ว ทำให้โอกาสที่บาทจะอ่อนค่าจากปัจจัยนี้มีน้อย อย่างไรก็ดี หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งตามที่คาด จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บาทอ่อนค่าเร็วอีกได้ โดยอาจเห็นบาทอ่อนค่าไปใกล้ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ US yields อาจสูงขึ้นได้อีก สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ย ประเมินว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง ในเดือน ก.พ. ปีหน้า โดยหากเงินเฟ้อกลับมาเข้ากรอบได้ตามคาด หรือ กนง. สื่อสารในเชิง Hawkish ก็อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยกลับมาสูงขึ้นได้เล็กน้อย
นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและพันธบัตรรัฐบาลในเดือนที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวนจาก 2 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ มุมมองการลดดอกเบี้ยของ Fed และแนวโน้มผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยเงินบาทเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนยังแข็งค่าที่ระดับราว 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ทยอยอ่อนค่าขึ้นต่อเนื่องหลังจากนั้นจนล่าสุดแตะระดับ 33.80 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม โดยปัจจัยหลักมาจากการปรับมุมมองของนักลงทุนต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะลดดอกเบี้ยน้อยลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasury yields) ปรับสูงขึ้น กดดันให้ดัชนีเงินดอลลาร์แข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่า นอกจากนี้ ตลาดคาดว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง ทำให้ Yields และราคา Bitcoin ปรับสูงขึ้น อีกทั้ง ราคาหุ้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายของทรัมป์ (กลุ่มพลังงาน บริษัทผลิตอาวุธ และธนาคาร) สูงขึ้นเช่นกัน ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า จึงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าเพิ่มเติม
ในเดือนกันยายนตลาดยัง Price-in การลดดอกเบี้ยของ Fed ในปีนี้ถึงราว 70 bps แต่ล่าสุดตลาดคาด Fed จะลดดอกเบี้ยอีกเพียง 45 bps เท่านั้น เนื่องจากตลาดปรับมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น จากที่เคยมองว่าเศรษฐกิจอาจเผชิญภาวะหดตัว (Recession) เป็นมองว่าเศรษฐกิจ อาจกลับมาเร่งตัวได้ (Re-acceleration) ทำให้ Treasury yields สูงขึ้นเร็วในเดือนตุลาคม โดย Yields ระยะสั้น (อายุ 2 ปี) ปรับสูงขึ้นราว 45 bps และ Yields ระยะยาว (อายุ 10 ปี) ปรับสูงขึ้นราว 50 bps อย่างไรก็ดี นายแพททริกมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังชะลอลงแบบ Soft landing ทำให้ Fed จะสามารถลดดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้งในปีนี้ และ 4 ครั้งปีหน้า (ครั้งละ 25 bps) ทำให้ Terminal rate จะลงไปอยู่ที่ราว 3.25-3.50% ซึ่งใกล้เคียงกับที่ตลาด Price-in ขณะนี้ ดังนั้น โอกาสที่ Yields จะปรับขึ้นต่อ และเงินบาทจะอ่อนค่าจากปัจจัยดังกล่าวน่าจะมีจำกัด อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและค่าเงินบาทในช่วง 1 เดือนจากนี้ โดยหากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี และพรรคริพับลิกันชนะทั้ง 2 สภา ก็อาจทำให้บาทอ่อนค่าเร็วและอาจแตะระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ได้
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า คะแนนของทรัมป์และแฮร์ริสใกล้เคียงกันมาก โดย 538 Poll ให้แฮร์ริสนำ ขณะที่ Real Clear Politics และ Polymarket ให้ทรัมป์มีคะแนนนำ ทั้งนี้ คาดว่าผลคะแนนใน Swing States 7 รัฐ จะเป็นตัวชี้ขาดผลเลือกตั้ง ซึ่งนายวชิรวัฒน์ประเมินว่า หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี และพรรคริพับลิกันชนะทั้ง 2 สภา ก็จะทำให้สินทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาปรับขึ้นต่อได้ และ Yields จะปรับสูงขึ้นต่อ โดยมองว่า Yields ระยะยาวจะเพิ่มขึ้นมากกว่า Yields ระยะสั้น ทำให้ Treasury curve ปรับชันขึ้น (Bear steepen) นอกจากนี้ ดัชนีเงินดอลลาร์จะแข็งค่าและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อไปถึงระดับราว 34.80-35.30 ได้ แต่หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี และพรรคริพับลิกันชนะแค่สภาบน นโยบายขึ้น Tariffs และตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มข้นขึ้นจะยังคงทำได้ แต่การลดภาษีนิติบุคคลจะไม่สามารถทำได้ ซึ่งมองว่าเงินบาทอาจจะทรงตัวหรืออ่อนค่าอีกเพียงเล็กน้อยไปที่ราว 34.20-34.70 สำหรับกรณีที่แฮร์ริสจะชนะการเลือกตั้งนั้น นายวชิรวัฒน์มองว่ามีโอกาสรองลงมา แต่พรรคเดโมแครตอาจชนะเพียงแค่สภาล่าง ซึ่งในกรณีนี้ การออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีจำกัด ทำให้เศรษฐกิจระยะยาวมีแนวโน้มโตช้าลง Treasury yields มีแนวโน้มปรับลดลงได้ พร้อมเงินดอลลาร์ที่อาจอ่อนค่าจากการ Price-out ของนโยบายทรัมป์ โดยมองว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าที่ราว 32.80-33.30 ได้ สำหรับโอกาสที่แฮร์ริสจะชนะการเลือกตั้งพร้อมกับพรรคเดโมแครตชนะในทั้ง 2 สภานั้น นายวชิรวัฒน์มองว่ามีโอกาสต่ำที่สุด แต่หากเกิดขึ้นจริง เงินบาทอาจแข็งค่าเร็วไปแตะระดับราว 32.00-32.50 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ นอกจากผลการเลือกตั้งแล้ว อีกปัจจัยที่ยังไม่แน่นอนคือระยะเวลาที่จะประกาศผล ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินผันผวนในช่วงนั้นได้ โดยผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอาจออกมาล่าช้า หากมีการประท้วงหรือขอให้นับคะแนนใหม่ในกรณีที่คะแนนใกล้เคียงกันมาก (ในบางรัฐมีกฎให้นับใหม่ได้ หากคะแนนต่างกันไม่ถึง 0.5%) ซึ่งนายวชิรวัฒน์ประเมินว่า ผลการเลือกตั้งน่าจะออกมาอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 11 ธ.ค. ตามกฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี หากแฮร์ริสหรือทรัมป์ชนะด้วยคะแนนที่ห่างกัน ก็อาจรู้ผลได้ในช่วงค่ำวันที่ 6 พ.ย. (เวลาไทย) ทั้งนี้ ด้วยความไม่แน่นอนที่มีอยู่มาก นายวชิรวัฒน์แนะให้ลูกค้าป้องกันความเสี่ยงจากผลการเลือกตั้งไว้บางส่วน โดยอาจจอง Forward บางส่วน และ/หรือพิจารณาซื้อ Options เพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีที่บาทเปลี่ยนแปลงเร็วและไม่เป็นดังที่ประเมิน (Tail risk)
สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทย นายวชิรวัฒน์กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยของ กนง. ในเดือนตุลาคมนั้นเหนือความคาดหมายของตลาด โดยก่อนการประชุม ตลาด Price-in การลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบนั้นเพียงราว 16% เท่านั้น สำหรับในระยะต่อไป ตลาดคาดว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือน มี.ค. ปีหน้า และให้โอกาสราว 80% ที่จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือน มิ.ย. ปีหน้า ทำให้สิ้นสุดวัฏจักรการลดดอกเบี้ยที่ระดับ 1.75% อย่างไรก็ดี นายวชิรวัฒน์มองว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง ในเดือน ก.พ. ปีหน้า โดยหากเงินเฟ้อกลับมาเข้ากรอบได้ตามคาด หรือ กนง. สื่อสารในเชิง Hawkish ก็อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยกลับมาสูงขึ้นได้เล็กน้อย