สำนักงานประมงจังหวัดเพชรบุรี รายงานการสำรวจปริมาณปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีพบว่ามีจำนวนลดลง แต่ยังเดินหน้าจัดกิจกรรมลงแขกลงคลองในแหล่งน้ำธรรมชาติและปล่อยปลาผู้ล่า พร้อมผนึกพลังของชาวเพชรบุรีเข้ามาร่วมกำจัดปลาชนิดนี้ แนวทางเป็น “เจอ จับ แจ้ง” ส่งเสริมการใช้ประโยชน์พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และริเริ่มแนวทางใหม่ ตั้งทีมอาสาสมัครประจำอำเภอร่วมหยุดยั้งปลาหมอคางดำอย่างยั่งยืนในระยะยาว
นายประจวบ เจี้ยงยี่ ประมงจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ประมงอำเภอ เจ้าหน้าที่กรมประมง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้แทนบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และชาวประมงในพื้นที่ ร่วมกิจกรรมลงแขกลงคลองกำจัดปลาหมอคางดำ ณ บริเวณบ่อบำบัดน้ำ ทุ่งตะกาดพลี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีจังหวัดเพชรบุรี 1 สามารถจับปลาหมอคางดำได้ 2,024 กิโลกรัม ซึ่งประมงเพชรบุรีส่งมอบให้สำนักงานพัฒนาที่ดินนำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพ และแบ่งให้ชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมนำไปบริโภคต่อไป
นายประจวบ เจี้ยงยี่ ประมงจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติของจังหวัดเพชรบุรีลดลงมาก เห็นได้จากจับปลาหมอคางดำได้น้อยลงและปลาที่จับได้ขนาดเล็กลง เป็นผลจากการดำเนินการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้นตามมาตรการของกรมประมงในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567-2570 ต่อจากนี้ ประมงจังหวัดเพชรบุรีจะมุ่งเน้นสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำมากขึ้น โดยปรับแนวทางการจัดการเป็น “เจอ จับ แจ้ง” ขอความร่วมมือประชาชนให้จับปลาหมอคางดำขึ้นทันทีเมื่อพบเห็นก่อนแจ้งหน่วยงานภาครัฐ และที่สำคัญ เตรียมคิกออฟทีมอาสาสมัครประจำ 8 อำเภอในจังหวัด อำเภอละ 30 คนรวม 240 คน อาสาสมัครจะทำหน้าที่ติดตามข่าวสารการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำในพื้นที่และเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าไปช่วยจับปลาหมอคางดำออกจากพื้นที่ได้ทันทีและสะดวกขึ้น เริ่มปฏิบัติการต้นปี 2568 เป็นต้นไป
“การจัดตั้งทีมอาสาสมัครปราบปลาหมอคางดำประจำอำเภอ เป็นนวัตกรรมที่ต้องการดึงพลังชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้เกิดวิธีการใหม่ๆ ที่เหมาะกับบริบทและสภาพแวดล้อมของชุมชนในการควบคุมและป้องกันการระบาดของปลาหมอคางดำที่ยั่งยืน สามารถควบคุมและหยุดยั้งการระบาดของปลาชนิดนี้ในระยะยาวได้ ที่สำคัญมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวเพชรบุรีว่าปลาหมอคางดำลดลงจริง” นายประจวบกล่าว
ประมงจังหวัดเพชรบุรียังเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำที่ 25 ตันภายใต้โครงการผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพของกรมประมงซึ่งขณะนี้มีการรับซื้อแล้ว 18 ตัน มีแผนจัดกิจกรรมลงแขกลงคลองอีก 12 ครั้งในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม สำหรับในปีหน้าจะหาแนวทางที่เข้าไปจัดการปลาในบ่อร้างเพิ่มขึ้น และร่วมมือกับกลุ่มชาวบ้าน หรือวิสาหกิจชุมชนหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำที่จับได้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ปลาร้า น้ำปลา นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับเรือนจำกลางเพชรบุรีและซีพีเอฟนำปลาที่จับได้ผลิตเป็น “น้ำปลา” โดยมีเกษตรกรต้นแบบในจังหวัดมาสอนวิธีการผลิตให้กับผู้ต้องขังเพื่อใช้เป็นทักษะอาชีพต่อไปอีกด้วย