OR มุ่งส่งเสริม “โครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน” จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ตอกย้ำจุดยืนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ปลูกกาแฟภาคเหนือ
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมด้วยนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหารระดับสูง OR เข้าเยี่ยมชมจุดรับซื้อและโรงแปรรูปเมล็ดกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้เกียรติร่วมในคณะ โดย OR เผยแนวคิดการพัฒนาอุทยานคาเฟ่อเมซอน จ.ลำปาง ตั้งเป้าปักหมุดเป็นศูนย์การเรียนรู้ธุรกิจกาแฟและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในภาคเหนือ พร้อมได้ร่วมมอบถุงยังชีพจำนวน 150 ชุด เพื่อส่งมอบต่อผู้ประสบภัยในพื้นที่รอบโรงแปรรูปเมล็ดกาแฟและ อ.แม่วาง ในโอกาสนี้ด้วย
นายดิษทัต เปิดเผยว่า OR ได้ทุ่มเทพัฒนา "โครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน" โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการปลูกกาแฟควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการขยายผลองค์ความรู้การพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ยังขาดโอกาส ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงการจัดตั้งจุดรับซื้อและโรงแปรรูปเมล็ดกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกาจากเกษตรกรโดยตรงในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ทั้งเป็นศูนย์พัฒนาทักษะความรู้ในการผลิตกาแฟให้กับเกษตรกรอีกด้วย
“โรงแปรรูปเมล็ดกาแฟ คาเฟ่ อเมซอนแห่งนี้ นอกจากช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจต้นน้ำของ คาเฟ่ อเมซอน ยังถือเป็นต้นแบบในการสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟภาคเหนืออย่างยั่งยืนตามแนวทาง OR SDG อีกด้วย ซึ่งนับตั้งแต่เปิดดำเนินการมีการรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในภาคเหนือรวมแล้วกว่า 362.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารับซื้อกว่า 55 ล้านบาท โดยมีการซื้อขายผ่านระบบ KALA Web Application (กะลา เว็บ แอปพลิเคชัน) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกษตรกร พื้นที่ปลูก คุณภาพเมล็ดกาแฟ และปริมาณกาแฟกะลาที่รับซื้อ โดยปัจจุบันมีเกษตรกรลงทะเบียนรวม 255 ราย แบ่งเป็นเกษตรกรจากเชียงราย 65% ลำปาง 18% เชียงใหม่ 12% และอีก 5% มาจากแม่ฮ่องสอน ตาก น่าน”
พร้อมเผยแนวคิดโครงการพัฒนาอุทยานคาเฟ่อเมซอน (Café Amazon Park) บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ ใน ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ คาเฟ่ อเมซอน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (ecosystem) ที่ยั่งยืน โดย “Café Amazon Park” จะเป็นทั้งแปลงเพาะปลูก ศูนย์วิจัยและพัฒนากาแฟสายพันธุ์ดี โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยและแนวทางการเกษตรแบบผสมผสาน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาพื้นที่และชุมชนในจังหวัดลำปางให้มีแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับธุรกิจกาแฟแบบครบวงจร
“OR ตั้งใจที่จะให้อุทยานคาเฟ่อเมซอนเป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านกาแฟ เพื่อต่อยอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจต้นน้ำกาแฟแบบครบวงจร ทั้งการปลูก วิจัย และพัฒนาสายพันธุ์ตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึงพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่าง ORกับชุมชนจังหวัดลำปาง เป็นการผสมผสานวิถีชีวิต เกษตรกรรม วัฒนธรรมให้เข้ากับและระบบนิเวศได้อย่างลงตัว รวมถึงเป็นพื้นที่ให้องค์ความรู้กับผู้ประกอบการ นักศึกษา เพื่อเป็นการสร้างความภูมิใจในแบรนด์ และยังสร้างรายได้ในเชิงท่องเที่ยวให้กับจังหวัดลำปางอีกทางหนึ่งด้วย” นายดิษทัต กล่าว
สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือนอกจาก 2 โครงการข้างต้น ที่ผ่านมา OR ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ อาทิ กิจกรรมมอบชุดโต๊ะเก้าอี้ให้กับโรงเรียนวัดหลวงวิทยาและโรงเรียนวัดพระเจ้านั่งแท่น ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้ “โครงการ เซฟโลก เซฟรถ เพื่ออนาคตน้อง ๆ” โดยจะเก็บรวบรวมแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นพีทีที ลูบริแคนท์ส (PTT Lubricants) ที่ใช้แล้วจาก ฟิต ออโต้ (FIT Auto) ผ่านกระบวนการ Upcycling แปรรูปเป็นโต๊ะและเก้าอี้ที่มีความแข็งแรงคงทน เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตขยะพลาสติกและการขาดแคลนโต๊ะของโรงเรียนต่าง ๆ รวมถึงโครงการไทยเด็ด ข้าวแต๋นทวีพรรณ อ.เกาะคา จ.ลำปาง ขนมโบราณของภาคเหนือ ที่ได้รับรางวัล OTOP 3 ปีซ้อน ปัจจุบันวางจำหน่ายในร้านขายของฝากทั่วไป รวมถึงร้านไทยเด็ดในลำปาง, เชียงใหม่, พิจิตร, สมุทรสาคร, อุบลราชธานี และกรุงเทพมหานคร รายได้เฉลี่ยประมาณ 500,000 บาท/ปี สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน