กองทัพอากาศจับมือซีพี ขับเคลื่อนโอกาสครั้งใหญ่ เสริมทัพงาน 12,000 ตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ร่วมมือกับกองทัพอากาศ สร้างโอกาสทางอาชีพและการศึกษาให้แก่ทหารกองประจำการและครอบครัว ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ลงนามโดย พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับทหารกองประจำการและครอบครัวบุคลากรของกองทัพอากาศ โดยนำร่องโครงการจัดหางานให้แก่ทหารกองประจำการที่ปลดประจำการและครอบครัวของข้าราชการกองทัพอากาศ รองรับตำแหน่งอาชีพได้มากกว่า 12,000 อัตราทั่วประเทศ พร้อมให้ทุนการศึกษาฟรีตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) มากกว่า 2,000 ทุนต่อปีโดยเน้นการพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานยุค 5.0
พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า “โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับทหารกองประจำการที่ปลดประจำการและครอบครัวของบุคลากรของกองทัพอากาศ ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะอาชีพที่จำเป็นตามความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้พวกเขาสามารถดูแลครอบครัวได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น ทหารที่ผ่านการฝึกทักษะเหล่านี้จะไม่เพียงแค่มีอาชีพที่มั่นคงเท่านั้น แต่ยังมีความสามารถในการปรับตัวกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างราบรื่น พร้อมทั้งสามารถมีบทบาทในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมในชุมชนของพวกเขาได้ต่อไป”
“กองทัพอากาศเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ความร่วมมือในครั้งนี้ระหว่างกองทัพอากาศและเครือเจริญโภคภัณฑ์แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้งสองฝ่ายในการสร้างโอกาสที่มั่นคงให้แก่ทหารกองประจำการที่ปลดประจำการ เครือซีพีในฐานะภาคเอกชนที่มีความพร้อมและศักยภาพในการฝึกฝนทักษะและมอบโอกาสการทำงานให้กับทหาร ถือเป็นพันธมิตรที่ทรงคุณค่าในการร่วมกันผลักดันโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จ การที่เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างอาชีพให้กับทหาร แต่ยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน การกระจายตำแหน่งงานไปทั่วประเทศจะช่วยให้ทหารและครอบครัวสามารถปฏิบัติงานในภูมิลำเนา ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งในระดับชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพและภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับชีวิตทหารและครอบครัว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติโดยรวม” ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวในที่สุด
นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า "เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความตั้งใจที่จะนำศักยภาพในหลากหลายธุรกิจขององค์กรมาตอบโจทย์สำคัญของสังคม โดยเฉพาะการสนับสนุนทหารกองประจำการที่ปลดประจำการและครอบครัว ผ่านการสร้างงานและพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน โครงการนี้ไม่เพียงเป็นการตอบแทนความเสียสละของทหาร แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของเครือซีพีในการสร้างโอกาสที่มั่นคงให้แก่บุคลากรเหล่านี้ เราเชื่อว่าการส่งเสริมให้พวกเขามีอาชีพที่ยั่งยืนและสามารถดูแลครอบครัวได้ จะไม่เพียงแค่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทหารและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาสังคมโดยรวม ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนในทุกภูมิภาค ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของซีพีในฐานะองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมุ่งเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืนต่อประเทศชาติ"
สำหรับแนวทางการส่งเสริมด้านอาชีพภายใต้ความร่วมมือนี้ จะมีการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ และจัดหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมมากกว่า 12,000 อัตราทั่วประเทศตามที่กล่าวไว้ข้างต้นเพื่อรองรับทหารที่จะปลดประจำการ ทหารอาสาที่จะครบสัญญาและครอบครัวเข้าทำงานกับบริษัทในเครือ ได้แก่ ซีพีเอฟ ซีพี ออลล์ ซีพี แอ็กซ์ตร้า (แม็คโคร โลตัส) กลุ่มทรู ตามทักษะความสามารถและความสนใจได้อย่างสะดวกรวดเร็ว พร้อมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ พัฒนาทักษะ ฝึกปฏิบัติงานก่อนลงมือทำจริง ใน 3 หมวด 9 หลักสูตร คือ หมวดช่างเทคนิค แบ่งเป็น ช่างเทคนิค ช่างกล ช่างไฟฟ้า ช่างประปา รวมทั้งหมวดปฏิบัติงานในร้านสาขา เติมและจัดเรียงสินค้า ขับรถส่งสินค้า แคชเชียร์ หมวดคลังสินค้าและขนส่ง ขับรถโฟล์คลิฟท์ แพคสินค้า ขับรถบรรทุก ทั้งนี้สามารถเลือกทำงานในภูมิลำเนาใกล้บ้าน เพื่อกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้วนั้น ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสถาบันครอบครัวที่อบอุ่น และนำไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็งได้อีกด้วย
นอกจากนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังสนับสนุนทุนการศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้น ปวช.จนถึงระดับปริญญาตรี มากกว่า 2,000 ทุนต่อปี จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) ซึ่งเป็นการเรียนในรูปแบบ Work-based Education คือ การศึกษาที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ในการทำงานจริง เป็นการเรียนทฤษฎีจากสถานศึกษาและเรียนรู้ภาคปฏิบัติจากสถานประกอบการตลอดหลักสูตร เพื่อสร้างความมั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป
อนึ่งภายใต้ความร่วมมือนี้ไม่เพียงมุ่งส่งเสริมด้านการศึกษาและอาชีพให้กับทหารเท่านั้น แต่จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพพร้อมขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน และถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการใช้พลังของภาคเอกชนในการสนับสนุนการพัฒนาสังคมในทุกมิติ ทั้งนี้ในงานลงนามบันทึกข้อตกลง ยังมีบูธแนะนำอาชีพและการศึกษา รวมถึงการยกทัพผลิตภัณฑ์ในเครือซีพีมาจำหน่ายในราคาพิเศษให้แก่บุคลากรทหารและครอบครัว เพื่อเป็นการตอบแทนและสร้างสรรค์โอกาสที่ยั่งยืนอีกด้วย