เครือซีพี ขยายผล “สบขุ่น โมเดลน่าน” สู่ชุมชน Social Enterprise พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สังคม และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนทุกมิติ 4 ต้นน้ำ ปิง-วัง-ยม-น่าน
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากเจตนารมณ์ของ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศนโยบายด้านความยั่งยืน ตั้งเป้าหมายเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นองค์กร Carbon Neutral ในปี 2030 และมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 สอดรับไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) แห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะการร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ความถดถอยลงของพื้นที่ป่าไม้ ปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 จึงได้จัดตั้ง สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้เป็นศูนย์กลางความร่วมมือขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนในพื้นที่ 4 ต้นน้ำ ปิง-วัง-ยม-น่าน นำร่อง “สบขุ่น โมเดลน่าน” หมู่บ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน ปรับระบบการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “กาแฟสร้างป่าสร้างรายได้” ปลูกต้นไม้ควบคู่การปลูกกาแฟ เป็นทางเลือกให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืน อีกทั้งสนับสนุนชุมชนบ้านสบขุ่นให้ปลูกต้นไม้ที่มีความหลากหลาย ไม้ป่า ไม้ผลกินได้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่า ไปแล้วกว่า 578,180 ต้น เพิ่มพื้นที่ป่าได้ 5,551 ไร่ เปลี่ยนจากดอยหัวโล้นกลับมาเป็นป่าอนุรักษ์และป่าชุมชนประมาณ 60% จากพื้นที่เดิม และยังได้รับการรับรองจากโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือ LESS ในด้านป่าไม้และพื้นที่สีเขียว กักเก็บคาร์บอนได้ 5,059.534 tCO2eq พร้อมทั้ง สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร กว่า 153 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟของวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำ - ปลายน้ำ สร้างแบรนด์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ จนสามารถยกระดับคุณภาพกาแฟเข้าประกวดให้เป็นสุดยอดเมล็ดกาแฟระดับพิเศษ พร้อมทั้งหาช่องทางตลาดกาแฟไทย ให้กาแฟของวิสาหกิจชุมชนเป็นที่รู้จัก และมีช่องทางการขายทั้งในตลาดออนไลน์โมเดิร์นเทรด และในห้างสรรพสินค้าที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคคนเมืองได้ ทำให้สามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชน เฉลี่ยปีละกว่า 2.5 ล้านบาท ให้กับชุมชนบ้านสบขุ่น โดยมุ่งหวังให้สามารถพัฒนาไปสู่กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise และยังเห็นความสำคัญของเยาวชนในชุมชน ให้มีโอกาสทางการศึกษา โดยสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่ลูกหลานของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนต่อเนื่องทุกปี
ทางด้าน นายปิติพงษ์ ธรรมลังกา ผู้ใหญ่บ้านบ้านสบขุ่น เปิดเผยว่า หมู่บ้านสบขุ่น ถือเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่ทำการเกษตรบนพื้นที่สูง ซึ่งแต่เดิมมีการปลูกพืชไร่และพืชหมุนเวียน และปลูกพืชเชิงเดี่ยว เมื่อปี 2558 เครือซีพี ได้เริ่มเข้าสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยมีบุคลากรมาประจำในพื้นที่ ส่งเสริมการปลูกกาแฟ เพื่อให้ชาวบ้านลดพื้นที่ทำเกษตร และคืนพื้นที่ป่าให้ฟื้นฟูกลับมา จึงได้มีการสนับสนุนองค์ความรู้ การบริหารจัดการภายในชุมชนให้มีระบบ มีการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้บ้านสบขุ่น สนับสนุนโรงแปรรูปกาแฟ จนกระทั่งมีผลิตภัณฑ์ “กาแฟบ้านสบขุ่น” ออกสู่ตลาดจำหน่ายในหลายพื้นที่
ปัจจุบัน เครือซีพี ส่งเสริมให้ชุมชนปกป้อง ฟื้นฟูรักษาป่า ปรับเปลี่ยนระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขยายไปยังพื้นที่ 4 ต้นน้ำภาคเหนือ ปิง-วัง-ยม-น่าน ได้แก่ ต้นน้ำปิง ที่ อ.แม่แจ่ม และ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ต้นน้ำวัง ที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ต้นน้ำยม ที่ อ.ปง จ.พะเยา และต้นน้ำน่าน ที่ “สบขุ่น โมเดลน่าน” อ.ท่าวังผา และอีก 4 อำเภอ ในพื้นที่ จ.น่าน