ซีพีเอฟ ร่วมมือกรมประมง เดินหน้าต่อแผนงานเชิงรุก 5 โครงการพิชิตปลาหมอคางดำ ฟื้นฟูความสมดุลในแหล่งน้ำ
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ให้การสนับสนุนกรมประมงในการจัดการกับปัญหาปลาหมอคางดำอย่างเข้มข้น โดยได้ดำเนินงานตามแผนเชิงรุก 5 โครงการ เพื่อควบคุมและลดประชากรปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ผลจากการดำเนินงานนี้ทำให้จำนวนปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ของซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟได้ร่วมมือกับกรมประมงดำเนินโครงการกำจัดปลาหมอคางดำหลากหลายแนวทาง ทั้งระยะสั้น เน้นจับปลาออกจากแหล่งน้ำให้มากและเร็วที่สุด ร่วมกับโรงงานปลาป่นรับซื้อปลาหมอคางดำสำหรับผลิตปลาป่น และสนับสนุนกิจกรรมลงแขกลงคลองในทุกพื้นที่ ระยะกลาง การจัดหาปลานักล่าเพื่อปล่อยลงแหล่งน้ำตามแนวทางกรมประมง เน้นการส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากปลาที่จับได้ ทั้งในด้านการบริโภคและการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ ซึ่งการดำเนินงานแต่ละโครงการมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และสามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้มากขึ้น
โครงการที่ 1 ซีพีเอฟได้ร่วมมือกับกรมประมงในการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทั่วประเทศในราคาที่เหมาะสม เพื่อนำมาผลิตเป็นปลาป่น และได้รับการสนับสนุนจากโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพีในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งช่วยรับซื้อปลาและสร้างเครือข่ายแพปลา ซึ่งในปัจจุบันได้รับซื้อปลาไปมากกกว่า 800,000 กิโลกรัม และจะขยายจุดรับซื้อไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องเกษตรกร
โครงการที่ 2 ซีพีเอฟได้สนับสนุนนโยบายของกรมประมง มอบปลาผู้ล่าจำนวน 200,000 ตัว เพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ โดยเน้นการใช้ปลากะพงขาวขนาด 4 นิ้วขึ้นไป โดยปล่อยไปแล้ว 64,000 ตัว ในสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ระยอง และจันทบุรี
โครงการที่ 3 ซีพีเอฟได้ร่วมกับกรมประมงและชุมชนในกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ โดยจัดหาอุปกรณ์ประมง สนับสนุนอาหารและน้ำดื่มให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งซีพีเอฟได้สนับสนุนการดำเนินการแล้วใน 13 จังหวัด ซึ่งมีส่วนช่วยกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้มากกว่า 15,000 กิโลกรัม และยังสนับสนุนจับปลาอย่างต่อเนื่อง
โครงการที่ 4 ซีพีเอฟได้ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อศึกษาและพัฒนาแนวทางการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำ โดยเน้นการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อเพิ่มการบริโภคปลาชนิดนี้
โครงการที่ 5 ซีพีเอฟได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ และหยุดยั้งการแพร่พันธุ์ในระยะยาว นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังสนับสนุนการใช้ถังพลาสติกรีไซเคิลจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง
ความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟ กรมประมง และภาคส่วนต่างๆ นี้ ส่งผลให้การจัดการปัญหาปลาหมอคางดำเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพสูงสุด