บอร์ด สปสช. ไฟเขียวหนุนท้องถิ่น ใช้งบ กปท. จัดรถรับส่งผู้ทุพพลภาพไปโรงพยาบาล
บอร์ด สปสช. ไฟเขียวแนวทางจัดบริการ “พาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ” เปิดทาง “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ใช้งบ กปท. พาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล/หน่วยบริการ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ทุพพลภาพ ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง ญาติไม่ต้องลางาน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. ที่ผ่านมา (5 ส.ค. 67) โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบร่างข้อเสนอการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ เพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ซึ่งผู้ทุพพลภาพในที่นี้หมายถึงผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 3 กลุ่ม คือ 1.คนพิการที่ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการแล้ว 2.ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ และ 3.ผู้ป่วยที่มีความยากลําบากในการไปรับบริการสาธารณสุขด้วยตนเอง ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้มีสิทธิที่เป็นผู้ทุพพลภาพ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ตามความจําเป็น ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางอ้อมของครัวเรือน อาทิ ค่าเดินทาง ค่าเสียโอกาสของญาติ ฯลฯ
ทั้งนี้ ที่มาของข้อเสนอนี้ ด้วยปัจจุบันผู้ทุพพลภาพกลุ่มต่างๆ ยังมีข้อจํากัดในการเดินทางจากบ้านไปรับบริการที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการ และไม่สามารถขอรับบริการรถฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ได้ เนื่องจากไม่เข้าข่ายการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น คนพิการ จิตเวช ที่ต้องพบแพทย์ตามนัด การล้างไต ทำแผล ฯลฯ และจากเวทีรับฟังความเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2563 และ 2564 ก็มีข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ขอให้ สปสช. เพิ่มบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วยเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองเพื่อช่วยให้ผู้ทุพพลภาพเข้าถึงบริการได้โดยสะดวก” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว
“ร่างข้อเสนอการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ เพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข จะเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจนให้กับ อปท. ในการจัดทำโครงการบริการรับส่งผู้ทุพพลภาพจากบ้านไปกลับโรงพยาบาลโดยใช้งบ กปท. ซึ่งผู้ให้บริการรถรับส่ง ได้แก่ รถพยาบาลของหน่วยบริการ ที่เป็นไปตามมาตรฐานรถพยาบาลของสถานพยาบาล, รถหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) รับรองและขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานที่ให้บริการรับส่งต่อผู้ป่วยและผู้ทุพพลภาพ และรถรับส่งผู้ป่วยโดยภาคเอกชนหรือเครือข่าย รวมถึงรถโดยสารสาธารณะสำหรับผู้โดยสารคนเดียวหรือกลุ่มเล็ก เช่น รถแท็กซี่ เป็นต้น ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด นับเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้าน นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของอัตราการจ่ายค่าบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ มีทางเลือกการจ่าย 4 แนวทาง เพื่อให้ อปท. พิจารณาได้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ดังนี้
1. จ่ายตามอัตราการจ่ายค่าใช้จ่ายค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วยที่กำหนดตามประกาศ สปสช. คือจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท สำหรับระยะทางน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 กม. และหากระยะทางมากกว่า 50 กม. จ่ายเริ่มต้น 500 บาท และเพิ่มขึ้น กม.ละ 4 บาท
2. จ่ายตามอัตราการอุดหนุนหรือชดเชยการปฏิบัติการฉุกเฉินทางบก ตามระเบียบของ สพฉ. เช่น ระยะทางไม่เกิน 10 กม. จ่ายประมาณ 100-350 บาท/ครั้ง
3. จ่ายรายครั้งบริการไปกลับตามอัตราที่ประกาศกำหนด
4. จ่ายเหมาบริการรายวัน ตามอัตราที่ประกาศกำหนด
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลังจากที่บอร์ด สปสช. เห็นชอบร่างข้อเสนอฯ ได้มอบหมาย สปสช. เสนอคณะอนุกรรมการชุดที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อน และประสาน อปท. ทั่วประเทศในการสนับสนุนการจัดทำโครงการการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพโดยใช้งบ กปท. ตามแนวทางนี้ นอกจากนี้ให้ สปสช. จัดระบบศูนย์สั่งการและประสานงานผู้ให้บริการพาหนะฯ Contact center 1330 เพื่ออํานวยความสะดวกให้ประชาชนและหน่วยบริการในการขอรับบริการต่อไป