ซีพีเตรียมเปิดตัวมาตรฐาน มอก.9999 เสริมเศรษฐกิจพอเพียงในภาคอุตสาหกรรม
เมื่อเร็วๆ นี้ ซีพีได้จัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำมาตรฐาน มอก.9999 มาใช้ โดยมีผู้แทนจากบริษัทในเครือเข้าร่วม ประกอบด้วย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือฯ คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือฯ และผู้บริหารจากซีพีเอฟ, ซีพีแรม, ทรู คอร์ปอเรชั่น และอื่นๆ โดยมีเป้าหมายให้ทุกบริษัทในเครือรวมทั้งองค์กรในห่วงโซ่อุปทานมีความเข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน
ซีพีตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืน โดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งมาตรฐาน มอก.9999 จะช่วยเสริมสร้างความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดี รวมถึงความรู้และคุณธรรมในองค์กร
ซีพีแรม (ชลบุรี) ได้รับเลือกให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน หลังจากได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากการนำมาตรฐาน มอก.9999 มาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยมีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มอก. 9999 เล่ม 1-2556 ที่ประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มาใช้ในการตัดสินใจและดำเนินการอย่างมีเหตุผลและมีความพอประมาณ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่างๆ
คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวถึงการเป็นต้นแบบในการทำมาตรฐาน มอก.9999 ว่า “ซีพีแรมพร้อมเป็นต้นแบบให้กับทุกบริษัทในเครือในการทำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม หรือ มอก.9999 เพื่อส่งเสริมให้ทุกองค์กรเข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้องและนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก”
มาตรฐาน มอก.9999 เป็นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาประยุกต์ใช้ โดยมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงให้เผยแพร่และประยุกต์ใช้ในวงกว้าง รวมถึงภาคอุตสาหกรรม