สสส.หนุนรัฐสภา ใช้แนวคิด Happy Workplace พัฒนาโมเดลรัฐสภาองค์กรแห่งความสุข สร้างบุคคลสร้างสุขรัฐสภาต้นแบบ พร้อมขยายผลสู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก ข้าราชการ-ลูกจ้าง ในองค์กรตลอดจนชุมชนรวม 5,000 คน ในปี 70 ล่าสุด เปิดตัวนวัตกรรม “หนังสือเส้นทางสู่ผู้นำสุขภาพ” มุ่งปั้นแกนนำถ่ายทอดความรู้สุขภาพสู่สังคม
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2567 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวในพิธีเปิดกิจกรรม “เวทีคนต้นแบบสร้างสุขรัฐสภา” ว่า รัฐสภา มุ่งส่งเสริมให้บุคลากรมีสุขภาวะดีทุกมิติ จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาโครงการรัฐสภาร่วมใจรวมพลังสร้างสุข ตามหลักการองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) จากข้อมูลสุขภาพของบุคลากรในวงงานรัฐสภา ปี 2566 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มป่วยโรคไม่ติดต่อ NCDs ซึ่งพบว่า มีไขมันในเลือดสูง 2.กลุ่มเสี่ยงป่วยโรค NCDs โดยพบความสมบูรณ์เม็ดเลือดไม่ปกติ และระดับกรดยูริคในเลือดสูง 3.กลุ่มปกติ โรค NCDs สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง รับประทานอาหารหวาน มัน เค็มจัด ความเครียดจากการทำงาน และมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง ทำให้เกิดเป็นโมเดลรัฐสภาองค์กรแห่งความสุขขยายผลสู่ประชาชนต่อไป
น.ส.กัลยรัชต์ ขาวสำอางค์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า โครงการรัฐสภาร่วมใจรวมพลังสร้างสุข ได้นำแนวคิดการพัฒนาองค์กรด้านสุขกาย สบายใจ ไร้หนี้ ชีวีมีสุข ซึ่งจากการดำเนินโครงการ 5 เดือน ได้พัฒนานวัตกรรมไลน์ OA “หมอสภา” เพื่อใช้บันทึกข้อมูลด้านสุขภาพและการวางแผนดูแลสุขภาพในระยะยาว รวมถึงการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ อาทิ ชมรมออกกำลังกาย กิจกรรมให้คำปรึกษาบริการทางใจ กิจกรรมเพิ่มความรู้และสร้างความตระหนักต่อโรค NCDs นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ เกิดนักสร้างสุของค์กรผู้นำสุขภาพ 292 คน ในจำนวนนี้ ยกระดับเป็นบุคคลต้นแบบสร้างสุขรัฐสภาด้านสุขภาพกาย-ใจที่ดี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารงานบุคคลของรัฐสภา ที่มุ่งเน้นให้บุคลากรมีสุขภาพที่แข็งแรงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งดำเนินงานขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรสุขภาวะ โดยเฉพาะในองค์กรซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญต่อการมีสุขภาพดีของคนวัยทำงาน ตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ สสส. พร้อมขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาวะให้ครอบคลุม 4 มิติ คือ กาย ใจ ปัญญา สังคม มีแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1.พัฒนาองค์กรและพัฒนานักสร้างสุของค์กร สู่การเป็นนักสร้างสุขภาวะมืออาชีพ 2.ดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพและกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การจัดตั้งชมรมออกกำลังกาย เสริมทักษะสร้างสุขด้วยสติ กิจกรรมจิตอาสา 3.พัฒนาชุดสื่อการเรียนรู้สุขภาพและนวัตกรรมสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาวะในรัฐสภา ล่าสุด พัฒนาหนังสือ “เส้นทางสู่ผู้นำสุขภาพ” เพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำในการส่งต่อความรู้ด้านสุขภาพกระจายสู่ชุมชนและสังคม สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ที่เว็บไซต์ https://web.parliament.go.th/view/9/Health_madia/TH-TH มุ่งเป้าขยายผลไปยังกลุ่มสมาชิกรัฐสภา สส. สว. ผู้บริหารข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างสำนักงานเลขาธิการฯ และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภากว่า 5,000 คน และหวังผลขยายต่อไปยังประชาชนทั่วไป