กนอ ร่วมกับ เอสซีจีซี ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยระงับเหตุ ยอมรับเป็นภารกิจที่ยากและท้าทาย
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดย รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับเอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC โดยนายมงคล เฮงโรจนโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ แสดงความขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญช่วยระงับเหตุเพลิงไหม้ถังจัดเก็บสารประกอบไฮโดรคาร์บอน C9+ ของบริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ภายในงานประชุมทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review – AAR) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา
รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “กนอ. ในฐานะผู้ดูแลนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดแห่งนี้ ขออภัยสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันต้องขอขอบคุณหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการระงับเหตุโดยเร่งด่วน ทำให้เหตุการณ์สงบลงได้ในระยะเวลาอันสั้น ไม่ว่าจะเป็นทีมระงับเหตุฉุกเฉินจากกลุ่มสมาชิก EMAG (Emergency Mutual Aid Group) และทีมบริษัทพันธมิตรในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมถึงหน่วยงานราชการ หน่วยงานท้องถิ่น ที่ระดมทีมสนับสนุนช่วยเหลือในทุกด้านเป็นอย่างดี สำหรับ กนอ.จะมีการทบทวนและกำหนดแนวทางร่วมกันในการยกระดับมาตรการป้องกันก่อนเกิดเหตุอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องต่อไป”
ด้านนายมงคล เฮงโรจนโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ SCGC กล่าวว่า “ผมขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร และทุกภาคส่วน สำหรับความช่วยเหลือและความร่วมมือในการระงับเพลิงไหม้ และขออภัยอีกครั้งสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้น การเข้าควบคุมสถานการณ์ในครั้งนี้ถือว่ามีความยากและท้าทายมาก แต่ด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน จึงทำให้ภารกิจนี้สำเร็จ สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว พิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกลุ่มเครือข่ายความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ได้แก่ ทีมระงับเหตุฉุกเฉินจากกลุ่มสมาชิก EMAG (Emergency Mutual Aid Group) พันธมิตรจากหลายบริษัทที่เข้ามาช่วยกันอย่างสุดความสามารถจนกระทั่งเพลิงสงบ รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ และหน่วยงานท้องถิ่น ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เทศบาลเมืองมาบตาพุด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง กรมควบคุมมลพิษ สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติฯ ระยอง รวมถึงบริษัทพันธมิตร ได้แก่ บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTT LNG) บริษัท ระยอง เรสคิวแอนด์ไฟร์ จำกัด”
สำหรับทีมระงับเหตุฉุกเฉินจากกลุ่มสมาชิก EMAG (Emergency Mutual Aid Group) ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 เป็นกลุ่มความร่วมมือของโรงงานอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อการระงับเหตุที่รวดเร็ว ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 9 บริษัท โดยบริษัทสมาชิก EMAG ที่เข้ามาช่วยเหลือระงับเหตุในครั้งนี้ มีทั้งหมด 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) บริษัท ไอ อาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งบริษัทในกลุ่มธุรกิจ SCGC ได้แก่ บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด (ROC) บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด (MOC) และบริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด (TPE)