LEARN to EARN เพราะชีวิต คือการเรียนรู้ ไม่มีที่สิ้นสุด “สุรพรชัย ธรรมศิริ” ว่าที่นักกายอุปกรณ์ ที่ไม่หยุดพัฒนาตนเอง เพื่อช่วยเหลือผู้พิการ
เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่เพียงแค่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เรียกว่าห้องเรียนอีกต่อไป แต่เป็นการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา หรือที่เรียกว่า Lifelong learning ที่จะทำให้ผู้เรียนรู้ นำประสบการณ์นั้นมาพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น เมื่อโอกาสเปิดให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันแล้ว ก็อยู่ที่แต่ละคนว่าจะค้นหาความเป็นตัวเองเพื่อจะไขว่คว้าหาความรู้เพื่อให้ตัวเอง “อยู่รอด” ได้ในโลกปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วจนแทบจะตามกันไม่ทัน
เหมือนอย่าง สิงห์ - สุรพรชัย ธรรมศิริ เจ้าของรางวัล Best Survivors Award ของมูลนิธิเอสซีจี ที่ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขากายอุปกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความมุ่งมั่นอยากเติบโตเป็นนักกายอุปกรณ์ เพื่อจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ดีขึ้น ซึ่งตลอดการเรียนรู้ของเขา ได้มีโอกาสทดลอง ค้นคว้า และฝึกฝนในหลายเรื่องที่ท้าทายความสามารถของตัวเขาเอง เสริมด้วยการเรียนรู้ทักษะการสื่อสาร ได้เรียนรู้ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้พัฒนาทักษะทางด้านภาษาของตนเองผ่านการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ “LEARN to EARN เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด” ของมูลนิธิเอสซีจี ที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่รู้จักตัวตนของตนเอง ได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองถนัดและชื่นชอบมากที่สุด พร้อมฝึกฝนต่อยอดทักษะไม่รู้จบ
“ผมมองว่าการที่เรารู้จักตัวเองได้เร็วมากเท่าไหร่ ยิ่งได้เปรียบคนอื่นมากเท่านั้น เพราะเราจะรู้ว่าตัวเองต้องพัฒนาทักษะด้านไหนเพิ่มเติม พัฒนาทั้งทักษะชีวิต Soft Skill และทักษะวิชาชีพ Hard Skill เพื่อเตรียมความพร้อมต่อโอกาสที่เข้ามาทุกเมื่อ เพราะที่ผ่าน ๆ มา ผมก็เคยสูญเสียโอกาสไปหลายครั้งเพียงเพราะว่าผมมองว่าผมยังไม่พร้อม แต่หลังจากที่ผมตั้งใจเรียนรู้และนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้มาพัฒนาทักษะทุกด้าน ทำให้ตอนนี้ผมพร้อมกับทุกโอกาสที่จะมีเข้ามา”
พื้นเพของสิงห์เป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา จบมัธยมปลายจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดชลบุรี ก่อนตัดสินใจมาศึกษาต่อในสาขาวิชากายอุปกรณ์ หลังจากค้นพบตัวตนว่า ต้องการเป็นนักกายอุปกรณ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ซึ่งเขาค้นพบตัวตนของตัวเองจากโอกาสการเข้าร่วมทำนวัตกรรมกับเพื่อนตอนสมัยเรียนมัธยม เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนากล้ามเนื้อของกลุ่มเด็กออทิสติกที่มีปัญหาเรื่องของกล้ามเนื้ออ่อนแรง จากการที่สิงห์ได้มีโอกาสนำนวัตกรรมชิ้นนี้ไปร่วมแข่งขันในหลาย ๆ เวทีได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ได้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่และใกล้ชิดกับผู้พิการมากขึ้น ได้เห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ของต่างประเทศเห็นว่าอุปกรณ์เหล่านี้สามารถช่วยให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติได้ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะพัฒนาอุปกรณ์เช่นเดียวกัน เพราะจากการที่ได้ลองทำ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง เกิดความชื่นชอบในสิ่งที่ทำ และรู้ว่าตนเองชอบที่ได้ทำอะไรแบบนี้ จึงตัดสินใจเลือกที่จะเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพนักกายอุปกรณ์
“การตัดสินใจเลือกเรียนในสายนี้ ไม่เคยได้รับการต่อต้านจากครอบครัวครับ แต่ก็ยอมรับตามตรงว่าในตอนแรก พ่อแม่และตัวผมเอง รวมถึงหลายๆ คนที่ผมรู้จัก ไม่มีใครรู้จักอาชีพนักกายอุปกรณ์มาก่อน ไม่รู้ว่ามีหน้าที่ทำอะไร หน้าที่การงานจะมั่นคงไหม พ่อกับแม่มักจะถามผมหลาย ๆ ครั้งว่าตัดสินใจดีแล้วใช่ไหม ผมชอบจริง ๆ หรือเปล่า ซึ่งผมก็เลือกที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นว่าทำไมผมถึงตัดสินใจมาเรียนสาขาวิชาชีพนี้ เพราะผมได้ศึกษาอย่างละเอียดแล้ว ทั้งการเรียน หน้าที่การงาน รวมไปถึงโอกาสในการทำงานในอนาคต และที่สำคัญอาชีพนักกายอุปกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เพื่อใช้ฟื้นฟูสุขภาพผู้พิการจากการมีอวัยวะผิดปกติหรือสูญเสียอวัยวะ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตร่วมกับคนปกติในสังคมได้ ถือเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงทั้งเส้นทางการเติบโตในอาชีพและรายได้ตอบแทน แล้วผมยังรู้มาอีกว่าอาชีพนักกายอุปกรณ์เป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน เพราะด้วยจำนวนของผู้พิการที่สูงขึ้น แต่มีนักกายอุปกรณ์ในประเทศอยู่จำนวนน้อย มันยิ่งทำให้ผมอยากประกอบอาชีพนี้ บวกกับผมรู้สึกว่ามันคือตัวตนของผม มันคือสิ่งที่ผมชอบและอยากทำ ผมเป็นคนที่ถ้าทำอะไรแล้วมีความสุข ผมจะทุ่มเทกับมันมาก ๆ เพื่อให้ทุก ๆ อย่างออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด”
สิงห์เล่าต่อว่า ได้คิดภาพตัวเองในอนาคตมาโดยตลอด จากความมุ่งมั่นที่อยากเป็นนักกายอุปกรณ์ที่สามารถทำได้ทั้งกายอุปกรณ์เสริม และกายอุปกรณ์เทียมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชีวิตผู้พิการ และอาชีพกายอุปกรณ์ให้เป็นที่รู้จักของคนในสังคม เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าอาชีพนักกายอุปกรณ์คืออะไร ทำอะไรบ้าง และมีความสำคัญอย่างไรกับผู้พิการและคนทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันตนเองก็ได้มีโอกาสถ่ายทอดความเป็นนักกายอุปกรณ์ในหลาย ๆ ครั้งผ่านเวทีต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายของการทำให้อาชีพนักกายอุปกรณ์เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น และผู้พิการทุกคนจะต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาอย่างเท่าเทียม
จากการใช้เวลาคลุกคลีตามเวทีประกวดที่เกี่ยวกับนวัตกรรมสำหรับผู้พิการ ได้จุดประกายให้ สิงห์ ค้นพบตัวเองถึงความชอบและเป้าหมายชีวิตในอนาคต เมื่อก้าวมาสู่รั้วมหาวิทยาลัย เขาก็ยังมีผลงานเด่นๆ ทั้งการเป็นทูตเยาวชนโครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย (Young Thai Science Ambassador: YTSA) รุ่นที่ 18 ที่มีโอกาสได้เล่าเรื่องราวของนักกายอุปกรณ์และความสำคัญของอาชีพนักกายอุปกรณ์ที่มีต่อผู้พิการในหัวข้อ วิทยาศาสตร์ สร้างโอกาสที่เท่าเทียมผ่าน Podcast การได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนของนักศึกษากายอุปกรณ์ขึ้นพูดเกี่ยวกับอนาคตของนักกายอุปกรณ์ ในกิจกรรม Ted talk ในงานกายอุปกรณ์ศิริราช เชื่อมใจใกล้ตัวเรา การได้รับรางวัลจากรายการ Gen will survive ของมูลนิธิเอสซีจี ที่ถ่ายทอดเรื่องราวตั้งแต่ก่อนมาเรียนอาชีพนักกายอุปกรณ์ ขณะนี้ สิงห์ ยังอยู่ระหว่างการรอผลการเข้าร่วมทีมในการพัฒนาบอร์ดเกมทางการศึกษาที่เกี่ยวกับกายอุปกรณ์ร่วมกับรุ่นพี่และอาจารย์เพื่อเตรียมเข้าแข่งขันในรายการ The 4th Global Educators Meeting :GEM ซึ่งเป็นงานประชุมทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของอาชีพนักกายอุปกรณ์ ซึ่งจะจัดขึ้น ณ สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ สิงห์ พร้อมด้วยเพื่อน ๆ และอาจารย์ในกลุ่มวิจัยในชั้นเรียนยังอยู่ในช่วงของการต่อยอดกับนวัตกรรมใหม่ นั่นคือการพัฒนาแผ่นรองเท้าสำหรับคนที่มีภาวะเท้าแบนทั้งคนพิการและคนปกติทั่วไป เป็นแผ่นรองเท้าที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาภาวะเท้าแบน โดยวัสดุที่นำมาใช้มีคุณสมบัติในการกระจายน้ำหนักและมีความคงทน ทำให้มีอายุการใช้งานที่นานกว่า จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้พิการได้
การไม่หยุดการเรียนรู้หรือ Lifelong Learning จะช่วยให้สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับชีวิตได้จริง เมื่อเรายังค้นหาตัวตนไม่เจอ ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรือถนัดด้านไหน ก็อาจจะต้องสร้างประสบการณ์เพื่อค้นหาความชอบหรือความถนัด เพราะความเป็นตัวตนจริงๆ จะมาจากความรักความชอบหรือความถนัดของตนเองไม่ใช่เกิดจากความคาดหวังของคนรอบข้าง เมื่อเราสามารถค้นหาตัวตนได้พบแล้ว เส้นทางต่อไปในชีวิตก็จะง่ายขึ้นเพราะเราจะสามารถพัฒนาหรือต่อยอดความรักความชอบหรือความถนัดของตัวตนได้ในที่สุด
“ผมรู้ครับว่าการรู้จักตัวเองเป็นเรื่องยากและเป็นสิ่งที่อาจจะต้องแลกกับอะไรหลายๆ อย่าง แต่จากประสบการณ์ของผม ผมว่ามันคุ้มที่จะค้นหาตัวเอง หากหมดหวังหรือได้รับความกดดันจากเรื่องต่างๆ รอบตัว ลองลดความคาดหวังที่เกิดจากสิ่งรอบข้างหรือคนรอบข้าง แล้วเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนความคาดหวังให้มาเป็นแรงผลักดันที่จะช่วยให้พัฒนาตนเองให้เป็นตัวเองในแบบของตัวเราเอง อย่ากลัวที่จะเรียนรู้ อย่ากลัวที่จะผิดพลาด เพราะทุกข้อผิดพลาดคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดที่ทำให้เราพัฒนาตนเอง แก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ เพื่อให้เราเป็นเราที่ดีขึ้น และพร้อมที่จะรับมือต่อปัญหาต่าง ๆ และพร้อมรับกับโอกาสต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตในอนาคตได้” สิงห์ กล่าวทิ้งท้าย
มูลนิธิเอสซีจียังคงเดินหน้าส่งเสริมให้เยาวชนไทยเข้าใจในแนวคิด LEARN to EARN เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์การดำรงอยู่ในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่รอดด้วยการใช้ทักษะรอบตัวในการเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ รวมทั้งการนำความรักความชอบหรือความถนัดมาต่อยอดจนเกิดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ นั่นคือการอยู่รอดจากการเรียนรู้อย่างแท้จริง ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของ LEARN TO EARN และมูลนิธิเอสซีจีได้ทาง www.scgfoundation.org เฟซบุ๊ก และ TIKTOK: LEARNtoEARN