กสทช. ลงพื้นที่ชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ สำรวจความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ต
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 เวลา 9:30 น. กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ศ. กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ และ รศ. สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช.ด้านโทรคมนาคม ได้ร่วมลงพื้นที่ชุมชน 70 ไร่ คลองเตย และชุมชนคนไร้เสียงใต้สะพานพระราม 9 เพื่อสำรวจความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนในชุมชนแออัดเขตในเมืองใหญ่
ทั้งนี้ มีนายชาญวุฒิ อำนวยสิน ผู้อำนวยการสำนักบริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม ร่วมลงพื้นที่ด้วย
รศ.สมภพ กล่าวว่า กสทช.ซึ่งมีโครงการการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation: USO) อย่างต่อเนื่องต้องการสนับสนุนและต่อยอดโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือคนด้อยโอกาสในเมือง โดยเริ่มจากบริการ WiFi ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ได้มีการหารือกับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ) รวมถึงผู้ให้บริการในกิจการโทรคมนาคมหลายรายด้วยกัน ในอนาคต อาจขยายโครงการไปยังชุมชนแออัดในเมืองในต่างจังหวัดซึ่งเป็นเมืองใหญ่ด้วย
ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ชุมชนคลองเตยเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะกับผู้ที่ย้ายถิ่นมาจากต่างจังหวัดซึ่งเป็นกลุ่มแรงงาน เมื่อแรกเข้ามาหางานทำในกรุงเทพ มีแนวโน้มที่จะมาเริ่มต้นที่นี่เพราะมีญาติหรือคนรู้จักซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่ การสนับสนุนอินเทอร์เน็ตจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่อยู่ในชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ทั้งการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียน และการแสวงหาข้อมูลต่างๆ ทั้งนี้ การสนับสนุนอาจเริ่มต้นที่ศูนย์กีฬาเยาวชน 70 ไร่ ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ที่เด็กและเยาวชนจาก 1,800 ครัวเรือนผลัดกันมาใช้เวลาเล่นกีฬาและทำกิจกรรมร่วมกันหลังเลิกเรียน ตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนดังกล่าวถือเป็นความร่วมมือไตรภาคี คือภาครัฐ ชุมชน และเอกชน
พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า การมาลงพื้นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อมารับฟังความต้องการของคนในชุมชนเพื่อให้ตอบโจทย์ได้มากที่สุด เมื่อทราบความต้องการแล้วจะได้ร่วมพิจารณาว่าจะสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง ตามกรอบของกฎหมาย
ระหว่างการลงพื้นที่สำรวจความต้องการที่ชุมชนคนไร้เสียง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนแออัดของคนพิการทางการได้ยิน กสทช. ได้ชมตัวอย่างการใช้งานตู้ TTRS ในบริเวณชุมชน ซึ่งผู้พิการทางการได้ยินใช้สื่อสารเพื่อสนทนากับคนที่มีการได้ยินปกติผ่านล่ามภาษามือด้วย โดยตู้ TTRS ก็ได้รับการสนับสนุนผ่านกองทุน USO ด้วยเช่นกัน