SCB CIOแนะทยอยสะสมหุ้นเกาหลีใต้รับกำไรบริษัทจดทะเบียนโตโดดเด่น ผนวกValuationยังต่ำพร้อมนโยบายเพิ่มมูลค่าบริษัทหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน
SCB CIO มองตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ภาคส่งออกฟื้นตัว หนุนเศรษฐกิจกลับมาโต คาด GDP ปี 2667-2568 ขยายตัว 2.2% ขณะที่ปี2566ขยายตัวเพียง 1.4% ประเมิน 4 ปัจจัยหนุนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ มีโอกาสสร้างผบตอบแทนที่ดี ได้แก่ 1) กำไรต่อหุ้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ที่เติบโต 2)Valuation ยังต่ำ 3) รับอานิสงส์จากนโยบายเพิ่มมูลค่าบริษัท ที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และ 4) นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อสิทธิแล้ว ประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 SCB CIO มีมุมมอง Slightly Positive แนะนำให้ ทยอยลงทุน ตามสัดส่วนและความเสี่ยงที่แต่ละบุคคลสามารถยอมรับได้
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ มีความน่าสนใจ จากวัฏจักรการส่งออกที่ฟื้นตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้กลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยในปีนี้ ผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Bloomberg Consensus คาดการณ์ว่า GDP เกาหลีใต้ในปี 2567-2568 จะขยายตัว 2.2% สอดคล้องกับมุมมองของ SCB CIO ที่คาดว่า GDP เกาหลีใต้ในปีนี้จะขยายตัวได้ดีกว่าปี 2566 ที่ขยายตัว 1.4% ขณะที่ ธนาคารกลางสาธารณรัฐเกาหลีใต้ (BOK) คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ อยู่ที่ 2.6% สูงกว่าระดับเป้าหมายระยะยาวที่ 2% ทำให้เรามองว่า BOK มีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบัน 3.5% ต่อไป และน่าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
เมื่อพิจารณาโครงสร้างดัชนีตลาดหุ้นเกาหลีใต้ หรือ KOSPI พบว่า ดัชนีมีสัดส่วนหุ้นอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุด ที่ประมาณ 39% ของดัชนี โดยหุ้น Samsung Electronices มีน้ำหนักสูงถึง 20% ของดัชนี และเมื่อรวมหุ้นตระกูลธุรกิจขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ (Chaebols) ทั้งหมดจะประมาณ 60% ของดัชนี ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นนักลงทุนรายย่อยในประเทศถึง 66% ของมูลค่าการซื้อขายในตลาด สะท้อนว่ารายย่อยมีส่วนร่วมในตลาดค่อนข้างมาก
SCB CIO มองว่า ตลาดหุ้นเกาหลีใต้มีความน่าสนใจลงทุน ด้วยปัจจัยสนับสนุน 4 ด้าน ได้แก่ 1) อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS growth) ปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากกำไรของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีน้ำหนักมากบนดัชนี ที่ฟื้นตัวค่อนข้างดีตามการส่งออกเกาหลีใต้ และยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ที่เติบโต 2) มูลค่า (Valuation) ยังน่าสนใจ โดยราคาต่อกำไรต่อหุ้นในอนาคต (12M Forward P/E) ของ KOSPI อยู่ที่ 10.6 เท่า หรือ -0.3 S.D. เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี ขณะที่ ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) อยู่ที่ 0.89 เท่า หรือ -0.4 S.D. เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี 3) อานิสงส์นโยบายเพิ่มมูลค่าบริษัท (Coporate Value Up) ที่แม้จะเป็นมาตรการตามความสมัครใจ แต่มีสิทธิพิเศษทางภาษีให้ คาดว่า จะส่งผลดีมากที่สุดกับหุ้นที่ซื้อขายอยู่บน valuation ที่ต่ำกว่าตลาด มีเงินสดพร้อมสำหรับการซื้อหุ้นคืน และ มีการจ่ายปันผลเพิ่มเติม และ 4) นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิบนดัชนี KOSPI โดยนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 กลับเข้าซื้อสุทธิแล้วประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุด นับตั้งแต่ช่วงปี 2564
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงหลักสำหรับการลงทุนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่นักลงทุนควรติดตาม ได้แก่ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักเติบโตน้อยกว่าที่คาด เนื่องจากเกาหลีใต้พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และเวียดนาม จึงมีความเสี่ยงที่การส่งออกจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักเติบโตน้อยกว่าที่คาด และอาจทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนต่ำกว่าที่คาดการณ์ได้ และความเสี่ยงจากการเลือกตั้งทั่วไปในเกาหลีใต้ที่จะมีขึ้นวันที่ 10 เม.ย. 2567 อาจทำให้เกิดความกังวลบนนโยบายเพิ่มมูลค่าบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นได้
ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยบวกที่มีมากกว่าปัจจัยลบ ทำให้ SCB CIO มีมุมมอง Slightly Positive หรือ ทยอยลงทุนได้บนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยเราแนะนำให้ ทยอยลงทุนบน Opportunistic Portfolio ซึ่งเป็นพอร์ตลงทุนส่วนเพิ่มโอกาส เนื่องจาก ปัจจัยบวกด้านกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2567 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และวัฏจักรเซมิคอนดักเตอร์ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับไม่แพง ประกอบกับนโยบายเพิ่มมูลค่าบริษัท มีแนวโน้มส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน