โครงการอาหารกลางวันเด็ก เป็นโครงการที่เกิดจากความตระหนักของรัฐบาล ที่มุ่งแก้ปัญหาภาวะ ทุพโภชนาการในเด็ก ซึ่งพบว่านักเรียนประถมศึกษาจำนวนมากขาดแคลนอาหารกลางวันหรือมีอาหารกลางวัน แต่ปริมาณไม่เพียงพอ หรืออาหารมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ ทำให้ภาวะการเจริญเติบโต ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข
โครงการอาหารกลางวันเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2495 โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทดลองจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในสังกัด ซึ่งพบว่า โรงเรียนขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ทำให้ไม่สามารถ จัดอาหารกลางวันให้นักเรียนขาดแคลนได้อย่างทั่วถึงในปี พ.ศ. 2530 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการอาหารกลางวัน จึงกำหนดนโยบาย ให้โรงเรียนดำเนินโครงการอาหารกลางวันทุกโรงเรียน ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ภายใต้คำขวัญ 60 พรรษามหาราชา เด็กประถมศึกษาไม่หิวโหย ต่อมา ในช่วงปลายปีงบประมาณ 2534 รัฐบาลเร่งรัดช่วยเหลือเด็ก ในระดับประถมศึกษาที่มีภาวะทุพโภชนาการ และขาดแคลนอาหารกลางวัน กำหนดให้มีกฎหมาย พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 สาระสำคัญคือ จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา วงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่าย สำหรับการสนับสนุนและช่วยเหลือ ภาวะโภชนาการของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา และการประชาสัมพันธ์ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็ก ในปี พ.ศ. 2542 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร ปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ที่โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการแต่ลำพังได้ ส่งผลกระทบต่อนักเรียนขาดแคลน อีกจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2542 ให้ถือว่าการส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารกลางวันอิ่มทุกวันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเห็นชอบไห้มีความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารอิ่มทุกวัน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ถ่ายโอนงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ไปให้กระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดตั้ง และจัดสรรงบประมาณเอง มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 จนถึงปัจจุบัน
แต่ในอีกมุมหนึ่งที่น่าเศร้าของโครงการอาหารกลางวันเด็ก ตามที่ได้ทราบข่าวสารเกี่ยวกับการจัดเมนูอาหารกลางวันเด็กนักเรียนว่าไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการที่เด็กควรได้รับในแต่ละมื้อ หรือมีให้ไม่เพียงพอ
กับปริมาณที่เด็กควรได้รับนั้น สาเหตุและปัญหาดังกล่าวเกิดจากอะไร เป็นคำถามที่ผู้ปกครองอยากได้คำตอบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการทุจริตหรือส่อให้เกิดการทุจริตกับโครงการดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งขอยกตัวอย่างการเผยแพร่คลิปนักเรียนกินอาหารกลางวันซึ่งเป็นขนมจีนคลุกน้ำปลาในถาดหลุม ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยคลิปดังกล่าวถือเป็นคลิปไวรัล ที่ถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วในสื่อสังคมออนไลน์ และเรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาและเคสนำร่องของการร้องเรียนจากผู้ปกครอง จึงทำให้มีมาตรการในการลงตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันเด็กในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตั้งอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ก็ได้รับการร้องเรียนในเรื่องโครงการอาหารกลางวันเด็ก เข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยสำนักงาน ป.ป.ช. เองไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น ในส่วนของภารกิจงานด้านป้องกันการทุจริตได้ทำการลงสุ่มตรวจโครงการอาหารกลางวันเด็กในพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้บุคลากรครูและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนัก
ถึงปัญหาดังกล่าว และเพื่อให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศได้รับประทานอาหารที่ถูกต้อง ครบถ้วน มีปริมาณที่เพียงพอ ตามหลักโภชนาการที่เด็กควรได้รับในแต่ละมื้อ และที่สำคัญเพื่อเฝ้าระวังปัญหาที่อาจจะลุกลามไปสู่การทุจริตหรือส่อให้เกิดการทุจริตกับโครงการดังกล่าวได้ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำคู่มือการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีแนวทางในการดำเนินงานให้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และได้มีบันทึกด่วนที่สุด ที่ ศธ 04188/436 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2566 เรื่อง ขอจัดส่งคู่มือการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน ประจำปี 2566 มายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อทราบ และดำเนินการส่งเสริม กำกับ ติดตามและตรวจสอบ ตามแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปตามคู่มือดังกล่าว อาทิ โปรแกรมระบบแนะนำสำหรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch ) โปรแกรมระบบฐานข้อมูลสุขภาพเด็กและเยาวชน (KidDiary) และขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้อง เป็นต้น
แม้ว่าจะมีการลงตรวจสอบกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ที่คิดทุจริตได้ตระหนักในเรื่องนี้ เพราะล่าสุดได้มีกรณีการร้องเรียนในเรื่องการเรียกรับเงินกว่า 3 แสนบาท จากผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลโครงการอาหารกลางวันของผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านบางชัน กรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่าเป็นค่าบริหารจัดการ โดยเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วนั้น ก็เป็นหน้าที่ที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องต่อสู้กันตามขั้นตอน
ของกฎหมาย ต่อไป
จะเห็นได้ว่าคดีทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็ก ที่ผ่านมาถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางวินัยและทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 151 และมาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 และถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนั้น มีให้เห็นกันจำนวนหลายคดี โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นอดีตข้าราชการครู ข้าราชการครู และเจ้าหน้าที่รัฐ การกระทำเช่นนี้ นอกจากทำให้ตนเอง
เสื่อมเสียชื่อเสียงและหมดอนาคตแล้ว ยังส่งผลต่อครอบครัว สังคมและประเทศชาติอีกด้วย
อ้างอิง : สำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน http://www.obecschoollunch.com/history/