กลุ่มบริษัทบางจากรายงานผลการดำเนินงานปี 2566 ปีแห่งการสร้างประวัติศาสตร์ EBITDA 41,680 ล้านบาท ทำสถิติรายได้และกำไรสูงสุดตั้งแต่ดำเนินธุรกิจ
กลุ่มบริษัทบางจาก รายงานผลการดำเนินงานปี 2566 หลังจากปิดดีลประวัติศาสตร์ในการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC (ชื่อเดิม บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)) มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 385,853 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปี 2565) EBITDA 41,680 ล้านบาท และมีกำไรสำหรับงวดปี 2566 ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 13,233 ล้านบาท สูงสุดสร้างสถิติใหม่นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 9.27 บาท
สำหรับไตรมาส 4 ปี 2566 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 142,922 ล้านบาท EBITDA 10,247 ล้านบาท ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในไตรมาส บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไร 1,347 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มีรายการพิเศษหลักจากการบันทึกรายการด้อยค่าสินทรัพย์ของ OKEA ซึ่งรับรู้ผลขาดทุนทางบัญชีตามสัดส่วนการถือหุ้นหลังจากหักภาษีจากแหล่งผลิต Statfjord 2,040 ล้านบาท และ Inventory Loss 993 ล้านบาท แต่มีกำไรจากตราสารอนุพันธ์ 1,266 ล้านบาท สามารถชดเชยผลขาดทุนที่เกิดจาก Inventory Loss ได้ทั้งหมด ส่งผลให้ไตรมาส 4 ปี 2566 มีผลขาดทุนที่ 977 ล้านบาท
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “กลุ่มบริษัทบางจาก สร้างสถิติใหม่ในปี 2566 ด้วยผลการดำเนินงานสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา ทุกกลุ่มธุรกิจมีการเติบโตและมีพัฒนาการที่สำคัญหลายด้านส่งผลให้บางจากฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 385,853 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปี 2565 โดยมี EBITDA 41,680 ล้านบาท มีกำไรสำหรับงวดปี 2566 ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 13,233 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 9.27 บาท
สำหรับปี 2567 บางจากฯ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการขยายธุรกิจจากการลงทุนขนาดใหญ่ในปี 2566 โดยจะมุ่งเน้นสร้างและต่อยอด Synergy ระหว่างกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน กลุ่มธุรกิจการตลาด และกลุ่มธุรกิจบางจาก ศรีราชา โดยได้ปรับกลยุทธ์การบริหารงานเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เทคโนโลยีและสินทรัพย์ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้าง Platforms for Growth เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผ่านการบริหารโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่ง การขนส่งและการค้าน้ำมัน ธุรกิจการตลาด ตลอดจนธุรกิจสนับสนุน และการทำงานแบบบริการร่วม (Shared Services) ในระบบ Back Office เพื่อลดต้นทุนและก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดในภาพรวม โดยมีเป้าหมาย EBITDA Synergy ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ยังมีแผนขยายอย่างต่อเนื่อง และบริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญในธุรกิจต้นน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยจะพิจารณาโอกาสในการเติบโตเพิ่มเติมจากแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพอื่น ๆ ต่อไป ในขณะเดียวกัน ก็มุ่งมั่นร่วมบรรเทาวิกฤติสภาพภูมิอากาศ สร้างโลกยั่งยืน ด้วยการเป็นโรงกลั่นแรกและโรงกลั่นเดียวในประเทศไทยที่ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ภายในไตรมาสแรกของปี 2568 ด้วยกำลังการผลิต 1,000,000 ลิตรต่อวัน”
ผลการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2566 ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ดังนี้
กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มีอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยที่ 120,100 บาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของกำลังการผลิต แม้มีการปิดหน่วยการผลิตบางส่วนสำหรับการปรับปรุงตามมาตรฐานยูโร 5 โดยมี EBITDA รวม 14,794 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 เทียบกับปี 2565 ปัจจัยหลักมาจากค่าการกลั่นพื้นฐานปรับลดลง จาก 14.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565 มาเป็น 9.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (แต่ยังคงสูงกว่าค่าการกลั่นสิงคโปร์ที่ 6.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) เนื่องจาก Crack Spread ของทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับลดลงจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง ส่งผลให้มี Inventory Loss อย่างไรก็ดี ธุรกิจการค้าน้ำมันโดยบริษัท BCPT เติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากการจัดหาน้ำมันดิบให้กับโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่ง และการขยายตลาดน้ำมันดิบแบบ Overseas Trading มีธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 59 จากปีก่อน
กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA รวม 3,157 ล้านบาทในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปี 2565 ด้วยปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทางสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 6,490 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปีก่อนหน้า จากการฟื้นตัวของตลาดน้ำมันอากาศยานรวมถึงการขยายช่องทางการจำหน่ายกับคู่ค้ารายใหม่อย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2566 มีสถานีบริการรวม 2,219 แห่ง (สถานีบริการบางจาก 1,389 แห่งและสถานีบริการเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นอีก 830 แห่งจากการเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของ BSRC) สำหรับธุรกิจ Non-Oil ร้านกาแฟอินทนิลมีสาขา 1,020 สาขา และจุดชาร์จ EV กว่า 265 จุด
กลุ่มธุรกิจบางจาก ศรีราชา ภายใต้การดำเนินงานของ BSRC มี EBITDA รวม 997 ล้านบาทในปี 2566 (ระยะเวลา 4 เดือนในปี 2566) โรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชามีอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยที่ 101,900 บาร์เรลต่อวัน แม้มีการปิดซ่อมบำรุง 40 วัน (ในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566) ซึ่งภายหลังการซ่อมบำรุง กำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสร้างสถิติสูงสุดของปีที่ 143,800 บาร์เรลต่อวันในเดือนธันวาคม 2566 ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันรวม 2,145 ล้านลิตร
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทบางจากมีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งรวมอยู่ที่ 294,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงที่สุดในประเทศ โดยกำลังการกลั่นที่เพิ่มขึ้นของโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชาจะช่วยเสริมความต้องการของธุรกิจการตลาดของบางจากฯ ที่ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง กลั่นได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) มีการขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ขยายการลงทุนในคลังน้ำมัน ท่าเทียบเรือ และท่อขนส่งน้ำมันในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อสร้างรายได้จากทรัพย์สินต่อเนื่อง ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบการสิ้นสุด Adder ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ โดยในปี 2566 มี EBITDA รวม 4,219 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34 จากปี 2565
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) มี EBITDA รวม 667 ล้านบาทในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปี 2565 ได้รับประโยชน์จากปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลและเอทานอลที่เพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อของ BSRC รวมถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากการที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ประกาศปรับส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากบี 5 เป็น บี 7
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ มี EBITDA รวม 19,671 ล้านบาทในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากปี 2565 จากปริมาณจำหน่ายของ OKEA ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 74 จากปีก่อนหน้า เป็นผลจากปริมาณจำหน่ายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลวที่เพิ่มขึ้น โดยหลักจากการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปี 2566 จากแหล่งผลิตที่รับโอนกิจการมาจาก Wintershall Dea ทั้งนี้ OKEA ประสบความสำเร็จในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม Hasselmus เสร็จสมบูรณ์ก่อนกำหนด และเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ได้รับโอนสิทธิ์ในแหล่งปิโตรเลียม Statfjord ในสัดส่วนร้อยละ 28 ทำให้กำลังการผลิตของ OKEA ในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 35,000-40,0000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน (ปริมาณการผลิตเฉลี่ยในปี 2566 อยู่ที่ 24,590 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 อย่างไรก็ตาม Statfjord มีปริมาณการผลิตและปิโตรเลียมสำรองน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้เกิดการตั้งด้อยค่าจากการลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นหลังหักภาษีจำนวน 619 ล้านโครนนอร์เวย์ (เทียบเท่า 2,040 ล้านบาท)
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 2566 และความสามารถในการบรรลุเป้าหมายสำคัญต่างๆ เป็นปฐมบทของการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งไม่เพียงจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้บางจากฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการต่อยอดจากธุรกิจปัจจุบัน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต ปี 2567 จัดเป็นอีกหนึ่งปีที่สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจยังคงมีความท้าทาย อย่างไรก็ดีด้วยยุทธศาสตร์และแผนดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจ บางจากฯ พร้อมเติบโตสู่ทศวรรษที่ 5 โดยยังคงยึดมั่นในการสร้างความแข็งแกร่งให้ทุกย่างก้าวของธุรกิจเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพและมั่นคง สร้างความยั่งยืนให้กับทั้งองค์กรและสังคมไทย ควบคู่กับการรักษาสมดุลที่ดีของความท้าทายด้านพลังงาน เพื่อส่งต่อความสุขที่ไม่สิ้นสุด ภายใต้วิสัยทัศน์ “รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว”
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 อนุมัติให้นำเสนอจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดครึ่งปีหลังของปี 2566 ในอัตรา 1.50 บาทต่อหุ้น เมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกของปี 2566 ในอัตรา 0.50 บาทต่อหุ้น จะรวมเป็นเงินปันผลที่จ่ายในปี 2566 ในอัตรา 2.00 บาท ต่อหุ้น โดยวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลเป็นวันที่ 7 มีนาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 เมษายน 2567