บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ชูระบบ "คอมพาร์ทเมนต์" ป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไก่ไทยปลอดไข้หวัดนกได้อย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสู่มาตรฐานขั้นสูงสุดระดับอวกาศ ย้ำผู้บริโภคต้องปรุงสุก และแยกชุดอุปกรณ์ปรุงอาหารระหว่างวัตถุดิบสดและอาหารปรุงสุก เพื่อความปลอดภัย
สพ.ญ.ดร.นิอร บุญประเสริฐ ผู้บริหารสูงสุด สายงานบริการวิชาการสัตว์ปีกและศูนย์วินิจฉัยโรคสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญและเอาใจใส่ทุกขั้นตอนในห่วงโซ่การผลิต เน้นคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหลัก โดยเฉพาะการนำมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคที่อาจปนเปื้อนในกระบวนการผลิต ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่จะนำมาให้สัตว์กินต้องมีความปลอดภัย ตลอดจนกระบวนการเลี้ยงและการจัดการฟาร์มสัตว์ปีกทุกขั้นตอน ทั้งฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ โรงฟักไข่ ฟาร์มไก่เนื้อ รวมถึงโรงงานชำแหละและแปรรูป ต้องปลอดเชื้อปนเปื้อน
ซีพีเอฟ ยังได้ยกระดับเนื้อไก่ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยระดับอวกาศ (Space Food Safety Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ความปลอดภัยด้านอาหารขององค์การ NASA ที่นักบินอวกาศสามารถรับประทานได้ เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เนื้อไก่จากซีพีเอฟมีความปลอดภัย ปลอดสาร 100% ที่องค์การระดับโลกยอมรับ ตอกย้ำความเป็นผู้นำนวัตกรรมผลิตอาหารที่ยั่งยืน
ระบบคอมพาร์ทเมนต์ (Compartment) คือ การป้องกันตั้งแต่ต้นทางที่มีประสิทธิภาพ เป็นระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกในฟาร์มและโรงเรือนระบบปิด ภายใต้มาตรฐานการจัดการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ และการเฝ้าระวังโรค ที่มีขั้นตอนการวิเคราะห์ อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมและวางมาตรการในการป้องกัน เพื่อลดโอกาสในการเกิดโรคไข้หวัดนกในฟาร์ม มีการตรวจติดตามสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด โดยเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบหาเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนและส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคและสุขภาพของสัตว์ อาทิ เชื้อไวรัสไข้หวัดนก เชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา เชื้อไวรัสนิวคาสเซิล โดยทีมสัตวแพทย์บริการวิชาการด้านสัตว์ปีก เข้าติดตามเฝ้าระวังสุขภาพสัตว์ระหว่างการเลี้ยงอย่างใกล้ชิด ซึ่งบริษัทฯ นำระบบนี้มาใช้และได้การรับรองจากกรมปศุสัตว์ตั้งแต่ปี 2554
ปัจจุบัน ซีพีเอฟ ใช้ระบบคอมพาร์ทเมนต์ในทุกฟาร์มสัตว์ปีกตลอดห่วงโซ่การผลิต 100% มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อยอดให้กับฟาร์มเกษตรกรประกันราคา (Contract Farming) มีระบบการเลี้ยงการจัดการ การป้องกันโรคที่ได้มาตรฐานช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตสัตว์ปีกของไทย สนับสนุนเกษตรกรให้สามารถเลี้ยงไก่ปลอดจากเชื้อไข้หวัดนก ได้ผลผลิตดี มีรายได้ที่มั่นคง เมื่อเกษตรกรอยู่ได้ อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกของไทยอยู่ได้ ทำให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกและเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป
สำหรับระบบคอมพาร์ทเมนต์ มีมาตรการในการควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังโรคตลอดกระบวนการผลิต ประกอบไปด้วย 4 พื้นฐานหลัก คือ
1. มีการกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity management system) โดยดำเนินการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมและวางมาตรการป้องกัน (HACCP) ตลอดกระบวนการผลิต
2. มีการตรวจเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในฝูงสัตว์ปีกที่เลี้ยงในฟาร์มและสัตว์ปีกในพื้นที่รัศมีกันชน 1 กิโลเมตร รอบฟาร์มอย่างต่อเนื่อง (Surveillance)
3. วางมาตรการควบคุมโรคไข้หวัดนกในฟาร์มและพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตร รอบฟาร์มตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ (Disease Control)
4. วางระบบทวนสอบย้อนกลับ (Traceability System) เพื่อติดตามข้อมูลการผลิตได้ตลอดห่วงโซ่อาหาร
นอกจากนี้ ซีพีเอฟเลี้ยงสัตว์ปีกในโรงเรือนระบบปิดที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อม (Evaporative Cooling System) และนำระบบควบคุมทางไกลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และ Internet of Thing (IoT) ติดตามสุขภาพสัตว์ภายในฟาร์มตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ลดการเข้าภายในโรงเรือนของเจ้าหน้าที่สัตวบาลโดยไม่จำเป็น ลดความเสี่ยงที่จะนำโรคเข้าสู่สัตว์
สพ.ญ.ดร.นิอร แนะนำว่า การบริโภคอย่างปลอดภัย หากพบสัตว์ปีกป่วยตายอย่างผิดปกติ ห้ามนำไปประกอบอาหาร ทั้งควรเลือกซื้อวัตถุดิบและอาหารจากผู้ผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน และต้องปรุงสุกด้วยอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป พร้อมแยกชุดอุปกรณ์วัตถุดิบสดและอาหารที่ปรุงสุกแล้ว และล้างมือหลังปรุงประกอบอาหาร ขณะที่ผู้เลี้ยงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าป่วย หากจำเป็นต้องสัมผัสให้ใช้สบู่ล้างมือให้สะอาดทันที