อึ้ง! คนไทยก่อขยะอาหารปีละเกือบ 10 ล้านตัน!! สสส. - TEI สานพลังกรมควบคุมมลพิษ กรมโลกร้อน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย กทม. ผนึก 14 ศูนย์อาหารทั่วประเทศ นำร่องลดขยะอาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กลุ่มเปราะบาง ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในเขตเมือง มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ณ รร.มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมควบคุมมลพิษ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย กรุงเทพมหานคร สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และศูนย์อาหารของรัฐและเอกชน 14 แห่งทั่วประเทศ ร่วมแสดงเจตจำนงร่วมจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน เพื่อป้องกัน ลด กำจัด ใช้ประโยชน์จากขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน มุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในเขตเมือง
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินเป็นปัญหาสำคัญในระดับโลก UN กำหนดให้การลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เมื่อปี 2558 กำหนดเป้าลดขยะอาหารในระดับค้าปลีกและบริโภคทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ในไทยขยะอาหารและอาหารส่วนเกินเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ มีขยะอาหารและอาหารส่วนเกินถูกทิ้งจากหลายแหล่ง ทั้งบ้านเรือน ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร แล้วถูกส่งไปกำจัดด้วยการนำไปเทกองกลางแจ้ง หรือเผากลางแจ้ง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน เช่น เกิดกลิ่นเหม็น น้ำเสียจากน้ำชะขยะปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค เกิดมลพิษทางอากาศ
“พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นแหล่งรวมการค้า การบริการ สถานประกอบการ ศูนย์การค้า สำนักงาน อาคารขนาดใหญ่ มีประชากรหนาแน่น มีการดำเนินชีวิตแบบคนเมือง มักไม่มีพื้นที่จัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน อีกทั้งไม่สะดวกในดำเนินการด้วยตนเอง ดังนั้นการแก้ปัญหาด้วยการจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินที่ต้นทาง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ก่อให้เกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกินผ่านวิธีการนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการส่งต่อยังกลุ่มเปราะบาง จึงเป็นทางออกหนึ่งที่สำคัญในการลดปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ลดมลพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในเขตเมือง” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีปริมาณขยะอาหารเกิดขึ้นประมาณ 9.7 ล้านตัน หรือ 146 กิโลกรัม/คน/ปี แหล่งกำเนิดที่มีการทิ้งของขยะอาหารสูงสุดคือ ตลาดสด รองลงมาคือ ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ และอาคารสำนักงาน ตามลำดับ ซึ่งแหล่งกำเนิดดังกล่าว ส่วนใหญ่มีศูนย์อาหารอยู่ด้วย ซึ่งเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดขยะอาหารที่สำคัญและควรวางแผนบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทาง ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศสมาชิก UN ต้องดำเนินการตามเป้า SDGs ในการลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้เห็นชอบแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 - 2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเป็นกรอบและทิศทางดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารของประเทศ มุ่งเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันและลดขยะอาหาร จัดระบบคัดแยกขยะอาหาร ณ แหล่งกำเนิด จัดระบบกำจัดขยะอาหาร ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย สนับสนุนและผลักดันให้ประชาชนคัดแยกขยะอาหารออกจากขยะทั่วไป และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบคัดแยกและเก็บขนขยะแบบแยกประเภท
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การประกาศเจตจำนงความร่วมมือจัดการขยะอาหารจากศูนย์อาหารวันนี้ เป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินของประเทศ มีความร่วมมือสำคัญ 5 ด้าน 1. สนับสนุนให้ศูนย์อาหารและหน่วยงานต่าง ๆ มีข้อมูลและกำหนดเป้าหมายลดปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกินด้วยระบบคัดแยกและรวบรวมให้เอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์และกำจัดอย่างเหมาะสม 2. ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน 3. ส่งเสริมองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับผู้ประกอบอาหารและผู้จำหน่ายอาหารในการป้องกัน ลด คัดแยก และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน 4. พัฒนาและขยายผลรูปแบบที่เหมาะสมและแนวปฏิบัติที่ดีในการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกินจากศูนย์อาหาร และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินที่แหล่งกำเนิด 5. ขับเคลื่อนนโยบายและแผนจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ด้วยกลไกข้อมูล กฎระเบียบ และการสื่อสาร เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการขยะอาหารอย่างเป็นระบบ สนับสนุนทางวิชาการ การเผยแพร่ข้อมูล และผลักดันให้เกิดการจัดการขยะอาหารจากแหล่งอาหารอย่างเป็นรูปธรรม