หมอ เตือน “สารให้ความหวาน” อาจไม่ใช่ทางเลือกสุขภาพที่ดี!
นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคม โภชนาการเพื่อกีฬาและสุขภาพ กล่าวถึงการใช้น้ำตาลและน้ำตาลเทียมเพื่อเป็นทางเลือกสุขภาพ ว่า การบริโภคน้ำตาลเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ถ้าบริโภคมากเกินไปก็จะเป็นพลังงานสะสมในร่างกายก่อให้เกิดไขมันนำมาสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ (NCDs) โรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และอื่นๆ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) มีคำแนะนำในการบริโภคน้ำตาลต่อวันไม่ควรเกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม เท่านั้น ทำให้คนในยุคปัจจุบันหันมารณรงค์ในการจำกัดปริมาณการบริโภคน้ำตาล ด้วยกลไกการเพิ่มภาษีน้ำตาล ทำให้อุตสาหกรรมอาหารต้องเปลี่ยนการใช้น้ำตาล แล้วหันมาใช้สารให้ความหวาน ที่ไม่ใช่น้ำตาล (non-sugar sweeteners) หรือน้ำตาลเทียม ที่ให้พลังงานค่อนข้างต่ำ หรืออาจไม่มีแคลอรี่เลยขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำตาลเทียม แบ่งเป็นน้ำตาลเทียมสังเคราะห์เช่น ซูคราโลส, แอสปาแตม, อะซิซัลเฟม-เค, แซคคารีนหรือขัณฑสกร และน้ำตาลเทียมจากธรรมชาติ จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารที่ควบคุมปริมาณแคลอรี่ต่อวัน
“น้ำตาลเทียมให้ปริมาณพลังงานค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะรับน้ำตาลมากเกินไป ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะอ้วน แต่ข้อมูลในระยะหลังก็พบว่า แม้ว่าสารให้ความหวานเป็นตัวช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ก็มีความกังวลในระยะยาวว่าอาจจะเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งจะก่อผลเสียต่อสุขภาพได้” นพ.ฆนัท กล่าว
ทั้งนี้ นพ.ฆนัท กล่าวต่อว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 องค์การอนามัยโลกได้ออกคำแนะนำถึงเรื่องนี้ว่า ‘น้ำตาลเทียมไม่ใช่ทางเลือกสุขภาพในการควบคุมน้ำหนักตัวและลดความเสี่ยงของโรค NCDs’ ซึ่งคำแนะนำนี้เป็นผลจากการศึกษาที่การศึกษาระยะสั้นพบว่า การใช้น้ำตาลเทียมช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ไม่มีผลช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด หรือลดภาวะดื้ออินซูลิน แต่การศึกษาใช้เวลาติดตามผลเป็น 10 ปี พบว่าผู้ที่บริโภคน้ำตาลเทียมต่อเนื่องกลับมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและอุบัติการณ์โรคอ้วนมากกว่า เพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ หลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิต และเสียชีวิตมากขึ้น
“ผลศึกษาในสตรีมีครรภ์การรับประทานน้ำตาลเทียมปริมาณมากเพิ่มโอกาสทารกคลอดก่อนกำหนด ไม่มีผลต่อการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และมีงานวิจัยหนึ่งพบว่าบุตรเป็นโรคหอบหืด และภูมิแพ้มากขึ้น ส่วนการเกิดมะเร็ง พบความสัมพันธ์ชัดเจนเฉพาะระหว่างสารแซคคารินกับการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นเพื่อสุขภาพจึงขอแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลตามธรรมชาติ เช่น ผลไม้ อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เติมน้ำตาลแทน หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลเทียมโดยไม่จำเป็น” นพ.ฆนัท กล่าว