เมื่อ 4KINGS ก้าวสู่บุคลากรทักษะสูงใน EEC
ช่วงที่ผ่านมา กระแสภาพยนตร์ไทยเรื่อง 4KINGS ทั้งภาค 1 และภาค 2 ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายมุมมอง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเหตุทำร้ายร่างกายกันจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงอีกมุมหนึ่ง ที่หลายๆ คนอาจยังไม่ทราบ ก็คือ น้องๆ นักเรียน นักศึกษาในสายอาชีวะ กำลังก้าวไปสู่โอกาสอันยิ่งใหญ่ในชีวิต โอกาสที่เปิดกว้างให้ชาวอาชีวศึกษาหันมาก่อร่างสร้างอนาคตของตัวเองไปพร้อมกับการขยายตัวและการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมบนพื้นที่ 3 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
นับตั้งแต่มีการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำนักงานคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ได้เล็งเห็นถึงการสร้างคนที่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม อีอีซี จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีทั้งคุณภาพด้านความรู้ และมีทักษะในการปฏิบัติงานจริงที่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี
หลักสูตรการพัฒนาบุคลากรของ EEC แบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ EEC Model Type A หลักสูตรที่ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช./ปวส.) โดยสถาบันการศึกษา จับคู่กับสถานประกอบการ เพื่อร่วมกันออกแบบหลักสูตรให้ตอบโจทย์การทำงาน และการเรียนรู้ เรียนทั้งในห้องเรียน และสภาพแวดล้อมการทำงานจริงในสถานประกอบการ และสถานประกอบการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน และรับประกันการจ้างงานเมื่อจบ ด้วยอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าอัตราเงินเดือนมาตรฐาน ของผู้จบการศึกษาใหม่
และ EEC Model Type B เป็นหลักสูตรระยะสั้น ไม่มีปริญญา เป็นการฝึกอบรมระยะสั้น Re-skill, Up-skill ให้มีทักษะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวทันการพัฒนาทางเทคโนโลยี โดยสถาบันการศึกษา จับคู่กับสถานประกอบการ เพื่อร่วมกันออกแบบหลักสูตร โดยมีสถานประกอบการเป็นผู้รับรอง และการันตีการจ้างงานอย่างน้อย 1 ปี แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม โดยหลักสูตรของ Type B ภาครัฐและสถานประกอบการรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม 50:50
โดยอีอีซี ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดันแนวทางการจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษาในพื้นที่อีอีซี” (Excellent Center) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา (ด้านศูนย์ยานยนต์สมัยใหม่) , วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม (ด้านศูนย์ดิจิทัลและหุ่นยนต์) , วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี (ด้านศูนย์ระบบราง และ Logistic) , วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ (ด้านศูนย์ Aviation และการท่องเที่ยว) , วิทยาลัยเทคนิคระยอง (ด้านศูนย์ Automation & Robotic) และวิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี (ด้านศูนย์โลจิสติกส์) เพราะความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงในสายอาชีวศึกษา ในพื้นที่อีอีซี มีจำนวนความต้องการมากกว่า 300,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของความต้องการแรงงานทักษะสูงในพื้นที่อีอีซี
ล่าสุด เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อีอีซี ได้นำคณะสื่อมวลชน ติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนาบุคลากรทักษะสูง ที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถาบันอาชีวศึกษาที่พัฒนาหลักสูตร อีอีซี โมเดล Type A ที่ได้ผลิตบุคลากรร่วมกับบริษัทชั้นนำหลายแห่ง อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ร่วมมือกับ BMW Ford และ E@ อุตสาหกรรมอากาศยานร่วมกับ Senior Aero Space บริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจากอเมริกา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวผลิตบุคลากร ร่วมกับกลุ่มโรงแรมแอมบาสเดอร์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ร่วมกับ Mitsubishi Electric กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และแมคคาทรอนิกส์จับคู่กับบริษัท TKK และ TBKK เป็นต้น โดยการดำเนินงานที่สำคัญ พบว่า นักศึกษาที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ได้ทำงานกับบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว รวมประมาณ 470 คน ได้งานที่ตรงความต้องการและมีรายได้ทันทีหลังการเรียนจบ
นอกจากนี้ อีอีซีและคณะได้ไปเยี่ยมชม ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรด้านเมคคาทรอนิกส์ หรือ ENMEC (EEC Networking of Mechatronics Excellence Center) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ตะวันออก (วิทยาเขตบางพระ) เพื่อติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาทักษะบุคลากร ซึ่งศูนย์ ฯ ENMEC แห่งนี้ ได้เน้นหลักสูตรการใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์ และระบบการผลิตอัจฉริยะ เพื่อให้นักศึกษา หรือผู้ที่เข้ารับฝึกอบรมระยะสั้นตาม อีอีซี โมเดล Type B สามารถมีทักษะรองรับการผลิตในโรงงานที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูง และเป็นเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับนักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง
สำหรับ ความก้าวหน้าในการพัฒนาบุคลากรในภาพรวมในพื้นที่อีอีซี พบว่า ผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้ทำงานร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภายใต้รูปแบบ อีอีซี โมเดล ซึ่งพบว่า เกิดการผลิตบุคลากรแล้วกว่า 54,573 คน ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาสายอาชีวะประมาณ 30,000 คน สะท้อนให้เห็นถึงโอกาส และอนาคตของบรรดานักศึกษา 4KINGS ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีเดิม เป็นการต่อสู้เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับตัวเองและครอบครัวในอนาคต รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ