ประชุมระดับชาติ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2566” ร่วมฉลอง “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ผลสำเร็จชัด ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ไม่ต้องกังวลค่ารักษา และช่วยลดครัวเรือนที่ยากจนจากค่ารักษาพยาบาลจาก 3 แสนครัวเรือนในปี 2543 เหลือ 4 หมื่นครัวเรือนในปี 2564 พร้อมตั้งเป้าประเทศไทยเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ปี 2566 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทบทวนอดีตและแถลงการณ์สู่อนาคต” เพื่อร่วมฉลอง “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล” และเป็นเวทีในการทบทวนความสำเร็จ ความท้าทายด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตลอดสองทศวรรษของประเทศไทย และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและเชิงวิชาการสู่การพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย จัดโดย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 250 คน จากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ รวมถึง หน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เป็นต้น
รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวว่า การดำเนินการนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ทำให้ประชาชนไทยทั้งประเทศสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงค่ารักษาพยาบาล โดยประเทศไทยสามารถบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนด้านโครงสร้างและพัฒนารากฐานระบบสุขภาพไทยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ซึ่งการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ ส่งผลให้จำนวนครัวเรือนที่ต้องมีหนี้สินและยากจนจากค่ารักษาพยาบาลลดลง จากปี 2543 ที่มีจำนวนกว่าสามแสนครัวเรือน ปี 2564 เหลือเพียงสี่หมื่นครัวเรือน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ทำให้ประชาชนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ สามารถเข้าถึงและรับบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตั้งแต่แรกเกิด โดยขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทอัปเกรด เพื่อมุ่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพ แก้ปัญหา วางรากฐาน และสร้างเศรษฐกิจ
“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ได้รับคำชื่นชมและการยอมรับจากนานาชาติ ที่ผ่านมาทำให้มีผู้แทนกว่า 30 ประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา อเมริกา และยุโรปเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปสู่การพัฒนานโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศตนเอง ดังนั้นในอนาคตประเทศไทยจึงมีเป้าหมายเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (UHC Learning Hub) อีกด้วย” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการจัดทำข้อเรียกร้องเพื่อให้มีการดำเนินการทันที (Call for action) ที่เป็นผลสรุปจากการรับฟังความเห็นของผู้เข้าประชุมในประเด็นดังต่อไปนี้ ได้แก่
(1) สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนและสหสาขาวิชาชีพ ในการปรับปรุง พัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพ และสร้างความยั่งยืนของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
(2) สนับสนุน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกับประเทศอื่นๆ
(3) กำหนดให้มีจัดการประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามความก้าวหน้าและพัฒนาการดำเนินงานของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง