ธนาคารกรุงไทยเผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.13 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย (แกว่งตัวในช่วง 35.02-35.14 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่ในช่วงระหว่างวันเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมากกว่าที่เราคาด (เราประเมินเงินบาทอาจยังไม่แข็งค่าหลุดโซน 35.30 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีปัจจัยหนุนการแข็งค่าจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังจากราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวเหนือระดับ 2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าเกินระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ท่ามกลางโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากบรรดาผู้ประกอบการ
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม หลังตลาดกลับมาเปิดทำการจากช่วงวันหยุด Thanksgiving โดยผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ รวมถึง ถ้อยแถลงของประธานเฟด ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.20%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.34% ท่ามกลางแรงขายทำกำไรของหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่ปรับตัวได้ดีในช่วงก่อนหน้า ASML -0.6% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมบางส่วน LVMH -1.4% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน
ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มกลับมามองว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1% ในปีหน้า (เริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมปีหน้า) ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงใกล้ระดับ 4.40% อีกครั้ง ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด ยังคงส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นาน อย่างไรก็ดี เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ดังกล่าวก็จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งยังได้ช่วยหนุนให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 148.5 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ตามการปรับตัวลดลงของส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯกับญี่ปุ่น โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.2 จุด (กรอบ 103.1-103.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และบรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวเหนือระดับ 2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ของสหรัฐฯ รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนและทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไร
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง มากกว่าที่เราประเมินไว้ แต่เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงบ้าง เมื่อเข้าใกล้โซนแนวรับสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน (ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอเข้าซื้อแถวโซน 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์) ขณะเดียวกัน ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็ยังมีทิศทางไหลออกสุทธิจากตลาดทุนไทย โดยในฝั่งตลาดบอนด์ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะบอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวลดลงตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ในการทยอยขายทำกำไรได้ และนักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครอง จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ ส่วนในฝั่งหุ้น บรรยากาศในตลาดการเงินโลกที่ยังไม่กลับมาเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน ทำให้เรามองว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยจะยังคงมีความผันผวนอยู่ (อาจเห็นการซื้อสุทธิกลับการขายสุทธิได้)
อนึ่ง เราประเมินว่า ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ สูงกว่านั้น ก็จะเปิดโอกาสให้บรรดาผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำได้ ส่งผลให้ เงินบาทก็ยังมีโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำเป็นปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่า (ซึ่งจะช่วยจำกัดไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนต้าน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก)
ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.15 บาท/ดอลลาร์